วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ นักเขียน รางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วินทร์ เลียววาริณ ระบุว่า... 'ละครเรทอาร์' ในรัฐสภาเมื่อไม่กี่สิบชั่วโมงที่ผ่านมา ทำให้หลายคนในสังคมตั้งคำถามในเรื่อง กาลเทศะ กาลเทศะ (คำว่า กาล ไม่มีสระอะ) คำนี้ เราได้รับการอบรมสั่งสอนมาแต่เด็ก แต่ไม่ค่อยมีคนใช้จริงๆ ตั้งแต่คนระดับชาวบ้านไปจนถึงนักการเมือง นักการเมืองฝรั่งก็เป็น รอนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีคนที่ 40 แห่งสหรัฐอเมริกา ขึ้นชื่อในเรื่องมีอารมณ์ขัน ชอบพูดตลกแม้ในเรื่องการเมืองเครียด ๆ ในวันที่ 11 สิงหาคม 1984 ช่วงที่สงครามเย็นยังครอบคลุมโลกใบนี้ ประธานาธิบดีรอนัลด์ เรแกน เตรียมออกอากาศทางสถานีวิทยุ ช่างเทคนิคตรวจสอบไมโครโฟนและเครื่องมือต่าง ๆ พร้อมแล้ว ก็ให้ท่านประธานาธิบดีทดลองพูดเพื่อตรวจความเรียบร้อยก่อนออกอากาศจริง บทพูดในวันนั้นเป็นเรื่องการออกกฎหมายใหม่ฉบับหนึ่ง มันเริ่มต้นว่า : “My fellow Americans, I’m pleased to tell you that today I signed legislation that will allow student religious groups to begin enjoying a right they’ve too long been denied...” (ชาวอเมริกันทั้งหลาย ข้าพเจ้ายินดีที่จะแจ้งให้พวกท่านทราบว่าข้าพเจ้าได้เซ็นกฎหมายอนุญาตให้กลุ่มนักศึกษาศาสนาเร่ิมได้รับสิทธิที่พวกเขาถูกปฏิเสธมานาน...) ท่านประธานาธิบดีทดลองพูดโดยแปลงบทซีเรียสให้เป็นเรื่องขำ ๆ ว่า : “My fellow Americans, I’m pleased to tell you today that I’ve signed legislation that will outlaw Russia forever. We begin bombing in five minutes.” (ชาวอเมริกันทั้งหลาย ข้าพเจ้ายินดีที่จะแจ้งให้พวกท่านทราบว่าข้าพเจ้าได้เซ็นกฎหมายอนุญาตให้เพิกถอนรัสเซียตลอดไป เราจะเริ่มทิ้งระเบิดรัสเซียในห้านาทีนี้) โลกเข้าโหมดสงครามโลกครั้งที่สามทันทีที่มุขตลกนี้รั่วไปถึงรัสเซีย ผ่านไปสามสิบนาทีเมื่อไม่มีวี่แววอเมริกาปล่อยขีปนาวุธมา รัสเซียจึงลดระดับการเตรียมสงครามลงสู่ภาวะปกติ เพราะเพิ่งรู้ว่าประธานาธิบดีคนนี้ล้อเล่น . หลายปัญหาในโลกเกิดจากการพูดจากระทำเรื่องผิดกาลเทศะ ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูง เป็นผู้นำหรือผู้บริหาร ต้องระมัดระวังการพูดจาและการกระทำมากกว่าคนธรรมดา เพราะสิ่งที่พูดทำเป็นตัวแทนของทั้งประเทศหรือองค์กร คนที่เป็นผู้นำความคิดในสังคมก็ต้องระวังเช่นกัน เพราะมันอาจสร้างทัศนคติหรือค่านิยมที่ไม่ดีแก่คนอื่นได้ ต้องระวังเรื่องที่กระทบความรู้สึกของคน เพราะมันทำร้ายจิตใจคนได้ ในบ้านเรา เรามักเห็นนักการเมืองพูดจาสกปรกหยาบคายต่อ ส.ส. หญิง คนเหล่านี้ลืมไปว่าตนเองเป็นตัวแทนของชาวบ้านที่เลือกพวกเขามาและต้องรักษาเกียรติของจังหวัดนั้น ๆ ผมมีประสบการณ์โดยตรงกับครูบาอาจารย์ที่ใช้เวลาในห้องเรียนเล่าประสบการณ์ทางเพศของตน บางครั้งมีนักศึกษาหญิงฟังอยู่ด้วย พิสูจน์ว่าความรู้เป็นคนละเรื่องกับมารยาท การเลือกพูดเหมาะสมกับกาลเทศะเป็นการแสดงวุฒิภาวะอย่างหนึ่ง การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่มีปากก็พูด ควรคิดข้ามช็อตว่าจะส่งผลอะไรตามมาด้วย น่าเสียดายที่เราอยู่ในโลกที่คนพูดมากกว่าทำ พูดแล้วไม่รักษาคำพูด พูดเรื่องโง่ ๆ ที่ไม่สร้างสรรค์ และไม่ต้องสนใจกับกาลเทศะ ทำให้สงสัยว่า เราจะสอนเด็กเรื่องกาลเทศะอย่างไรดี