“อาจารย์ปริญญา” ปลุกคนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เลิกนำสารพิษเข้าร่างกาย ชักชวนชาวธรรมศาสตร์กว่า 100 ชีวิต ลงแขกเกี่ยวข้าวบนสวนผักออร์แกนนิกลอยฟ้าใหญ่ที่สุดในเอเชีย นับหนึ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พร้อมด้วยคณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่า รวมกว่า 100 ชีวิต ร่วมกันเกี่ยวข้าวสายพันธุ์ข้าวหอมธรรมศาสตร์ ภายใต้กิจกรรม “มาเกี่ยวข้าวกัน” บนสวนผักออร์แกนนิกลอยฟ้าใหญ่ที่สุดในเอเชีย ณ อาคารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ปริญญา เปิดเผยว่า วิถีการเกษตรดั่งเดิมของประเทศไทยนับว่าเป็นต้นทุนที่ดีมาก แต่ปัจจุบันกลับพบการใช้สารเคมีในปริมาณที่สูง ซึ่งนอกจากสร้างผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วย ฉะนั้นเกษตรกรในประเทศไทยจึงเข้าข่ายยิ่งทำยิ่งจน ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา มธ.จึงอยากชักชวนให้ประชาชนเริ่มต้นด้วยการเลิกนำสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ไม่บริโภคผัก-ผลไม้ที่มีสารเคมี ซึ่งที่สุดแล้วจะนำไปสู่การเกษตรกรรมที่ปลอดจากสารก่อมะเร็งในอนาคต ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า หลังคาของอาคารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ได้รับการออกแบบด้วยแนวคิด “หลังคาสีเขียว” ซึ่งเป็นการใช้ร่มไม้ปกคลุม ขณะเดียวกันก็มีการปลูกพืชออร์แกนนิกสำหรับรับประทาน อาทิ ข้าว กระเจี๊ยบ ตะไคร้ กระเพรา ฯลฯ หมุนเวียนกันไป โดยผักจะถูกส่งไปเป็นวัตถุดิบของศูนย์อาหารออร์แกนนิก 100% ส่วนข้าวจะถูกนำไปหุงให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 รับประทาน “หลังคาของอาคารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี นับว่าเป็นสวนผักออร์แกนนิกลอยฟ้าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย และถือเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นการปลูกข้าวบนสถานที่แห่งนี้ นับเป็นกุศโลบายที่จะทำให้คนสนใจและหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องเกษตรปลอดภัยอย่างจริงจัง” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว ด้านนายเอกชัย ราชแสง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ มธ. กล่าวว่า ข้าวที่ปลูกบนหลังคาอาคารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มีชื่อว่า “ข้าวหอมธรรมศาสตร์” ซึ่งภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ ได้พัฒนาสายพันธุ์มาจากข้าวหอมมะลิ 105 แต่จะมีจุดเด่นกว่าตรงที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 90 วันเท่านั้น โดยข้าวสายพันธุ์นี้เหมาะสมกับการปลูกแบบปลอดสารเคมีโดยเฉพาะ “ขั้นตอนหลังจากนี้ เราก็จะนวดข้าวให้เหลือเฉพาะเมล็ด แล้วตากแห้งประมาณ ๒๘ วัน จากนั้นก็จะนำไปเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อสำหรับหุงต้อนรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษาต่อไป” นายเอกชัย กล่าว