เรียบร้อยโรงเรียนสายคอนเซอร์เวทีฟไปตามคาด สำหรับ ผลการเลือกตั้งทั่วไปของประชาชนใน “สหราชอาณาจักร” อันประกอบด้วย อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งมีขึ้นเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ผลปรากฏว่า “พรรคอนุรักษ์นิยม” ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน คว้าชัยชนะมาได้ และก็ต้องบอกว่า เป็นชัยชนะอย่างถล่มทะลาย เหนือความคาดหมายที่บรรดาคอการเมืองได้ประเมินกันก่อนหน้า โดยได้จำนวน ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้ไปถึง 365 ที่นั่ง ถือเป็นชัยชนะนัดประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรครั้งหนึ่งของพรรคอนุรักษ์นิยม หรือคอนเซอร์เวทีฟปาร์ตีเลยทีเดียว หักปากกาเซียนที่ต่างระบุว่า พรรคอนุรักษ์นิยมจะชนะเลือกตั้งกันก็จริง แต่ก็มิใช่ถล่มทะลายกลายรัฐบาลเสียงข้างมากกันขนาดนี้ ซึ่งจำนวนเต็มของ ส.ส.ในสภาสามัญ คือ สภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักร ก็มีจำนวนทั้งสิ้น 650 เสียง จึงนับถือว่า พรรคอนุรักษ์นิยมได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งอยู่หลายสิบที่นั่ง เมื่อเปรียบเทียบการเลือกตั้งหนก่อน ก็ปรากฏว่า พรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน ได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นถึง 47 ที่นั่ง มากกว่าที่เหล่าคอการเมืองประมาณการกันไว้ว่าจะได้ ส.ส. เพิ่ม 44 ที่นั่ง ก็ส่งผลให้ “นายบอริส จอห์นสัน” ยังคงพำนักอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 10 บนถนนดาวนิง กรุงลอนดอน อีกสมัย ในฐานะ “นายกรัฐมนตรีอังกฤษ” คนเดิม สวนทางแตกต่างจากสถานการณ์ของ “พรรคแรงงาน” หรือ “เลเบอร์ปาร์ตี” พรรคแกนนำฝ่ายค้าน ภายใต้การนำของ “นายเจเรมี คอร์บิน” แบบหนังคนละม้วน ที่ปรากฏว่า พ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างย่อยยับ เพราะผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ส่งชิงชัย ได้รับให้เป็น ส.ส. เพียง 203 ที่นั่ง เท่านั้น โดยตัวเลขจำนวน ส.ส.ที่พรรคแรงงานได้ไปในการเลือกตั้งครั้งใหม่ นอกจากน้อยกว่าผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ได้ 262 ที่นั่ง ลดลงกว่าเก่าถึง 59 ที่นั่งแล้ว พรรคเลเบอร์ปาร์ตี ก็ยังได้ ส.ส.จำนวนต่ำกว่าที่บรรดาคอการเมืองคาดการณ์เอาไว้ด้วย คือ 211 ที่นั่ง บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า เหตุปัจจัยที่ทำให้พรรคอนุรักษ์นิยม ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทะลายเกินความคาดหมายครั้งนี้ ก็มาจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจากทางทีมงานพรรคอนุรักษ์นิยมนั่นเอง ที่โน้มน้าวจนประชาชนเกิดความชัดเจนว่า ต้องให้เรื่อง “เบร็กซิต” คือ การนำสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป หรืออียู จบๆ ไปเสียที โดยถ้าจะต้องออกจากอียู ก็ต้องออกให้เสร็จสิ้นไป ไม่ใช่ยืดเยื้อเรื้อรังดังสถานการณ์ที่เป็นอยู่ หลังผ่านพ้นการลงประชามติเมื่อปี 2559 หรือ 3 ปี่มาแล้ว แต่ปรากฏว่า “เบร็กซิต” ก็ยังไปไม่ถึงไหน ทั้งนี้ แม้แต่กลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเบร็กซิต ก็ยังต้องการความชัดเจนแบบให้จบๆ ไปด้วยเช่นกัน โดยทางพรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน รณรงค์หาเสียงอย่างมีความชัดเจน ผสมผสานกับคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กันอยู่ในที ด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “ทำเบร็กซิตให้สำเร็จ (Get Brexit Done)” เพียงเท่านี้ ส่งผลให้เป็นที่ชัดเจนว่า โลกจะได้เห็น “เบร็กซิต” บังเกิดขึ้นภายในสิ้นเดือน ม.ค.ปีหน้านี้ค่อนข้างแน่ อย่างไรก็ดี เหล่านักวิเคราะห์ก็มีทรรศนะว่า แม้เบร็กซิตจะเดินหน้าไปตามการหาเสียงของพรรคอนุรักษ์นิยมข้างต้น แต่ก็จะส่งผลต่อภายในพรรคอนุรักษ์นิยมหาน้อยไม่ เพราะจากการประเมินเบื้องต้น พบว่า จำนวนครึ่งหนึ่งของคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน ล้วนเห็นชอบเบร็กซิตในแบบ “การออกไปอย่างละมุนละม่อม” หรือ “ซอฟต์เบร็กซิต (Soft Brexit)” ที่ต้องการให้อังกฤษพ้นจากสมาชิกสภาพของอียู แต่ทว่า ยังคงมีความสัมพันธ์การค้าและการเมืองกับอียูอย่างใกล้ชิดอยู่ต่อไป ขณะที่ อีกส่วนหนึ่งภายในคณะรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม กลับสวนทาง เพราะต้องการให้เป็นเบร็กซิตแบบ “ฮาร์ดเบร็กซิต (Hard Brexit)” คือ ออกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากอียูให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย นอกจากภายในพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของสหราชอาณาจักร ที่ยังเป็นรัฐบาลบริหารประเทศอีกสมัย อันจะต้องเผชิญกับการเขย่าให้สั่นคลอนจากแนวคิดที่แตกต่างคนละข้างขั้วดังกล่าวแล้ว ความสั่นคลอนระดับประเทศของสหราชอาณาจักร ก็ยังสุ่มเสี่ยงที่จะต้องเผชิญด้วยเช่นกัน เมื่อปรากฏว่า กระแสการแยกตัวของ “สกอตแลนด์” และ “ไอร์แลนด์เหนื” ออกจาก “สหราชอาณาจักร” ก็ทวีความรุนแรงขึ้นเช่นกัน โดยได้แนวโมเดลจากเบร็กซิต ภายหลังจากพรรคชาตินิยมสกอตแลนด์ หรือเอสเอ็นพี ภายใต้การนำของนางนิโคลา สเตอร์เจียน มี ส.ส.ได้รับเลือกตั้งจากการหย่อนบัตรครั้งนี้เพิ่มขึ้นกว่าครั้งก่อนถึง 13 ที่นั่ง โดยได้ ส.ส. 48 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 59 ที่นั่ง เช่นเดียวกับ ผู้สมัครฯ ของไอร์แลนด์เหนือ ที่มีแนวคิดชาตินิยมชนชาติไอร์แลนด์ ก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส. ในเขตไอร์แลนด์เหนือเพิ่มมากขึ้น โดยทั้งสกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ทั้งสองแห่งในการลงประชามติเบร็กซิตเมื่อ 3 ปีก่อน ก็มีผู้ลงคะแนนให้อยู่กับอียูต่อไป หรือต่อต้านเบร็กซิตเป็นจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ทางนางสเตอร์เจียน ก็ถือโอกาสตีเหล็กเมื่อไฟยังแดง ด้วยการประกาศจะจัดให้มีการลงประชามติเพื่อแยกสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักรภายในสิ้นปีนี้ พร้อมแสดงความมั่นใจว่า ผลประชามติที่ออกมาย่อมแตกต่างจากเมื่อปีที่แล้วแน่ โดยมีปัจจัยเรื่องเบร็กซิตเป็นตัวกระตุ้น เช่นเดียวกับ ไอร์แลนด์เหนือ ที่นักการเมืองสายชาตินิยม ก็ฝักใฝ่ที่จะพาดินแดนของพวกเขาไปรวมกับไอร์แลนด์ ซึ่งมีกระแสที่สหราชอาณาจักรน่าวิตกหาน้อยไม่