วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UN Conference Center) ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานครดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานประกาศแผนปฏิบัติการว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) โดยมี นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน และมี นางสุนันทา เตียสุวรรณ์ รองนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คประเทศไทย และ Ms. Deirdre Boyd ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดีกับประเทศไทยเนื่องในโอกาสที่ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยนางธารินี แสงสว่าง รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เข้าร่วมงาน ดร.วิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม รวมทั้งภาคีเครือข่ายทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ ที่ได้ร่วมกันให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ฉบับแรกของประเทศไทย และเอเชีย ซึ่งหากทุกภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญ และร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ไปสู่การปฏิบัติ ย่อมจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ มีความเป็นอยู่ที่ดี มีสุขอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถและเติมเต็มโอกาส ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและสังคม และเมื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ก็ย่อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป โดยแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนจัดทำขึ้นภายใต้กรอบหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ซึ่งให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก ได้แก่ การคุ้มครอง (Protect) การเคารพ (Respect) และการเยียวยา (Remedy) โดยสาระสำคัญประกอบด้วย 4 ประเด็นหลักที่ต้องเร่งแก้ไข คือ 1) แรงงาน 2) ชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 3) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 4) การลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ การประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยนั้น เป็นการเน้นย้ำเจตนารมณ์ความตั้งใจจริง และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนานาประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนทั้งภายในและระหว่างประเทศ