ผ่านพ้นไปเรียบร้อย สำหรับ การประชุม “คณะกรรมาธิการด้านตุลาการแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา” เพื่อพิจารณาร่างญัตติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำประเทศ ให้พ้นจากตำแหน่ง ภายหลังจากประชุมหารือกันอย่างเข้มข้นดุเดือด และมาราธอนนานกว่า 14 ชั่วโมง เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณา “ญัตติ” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “ข้อกล่าวหา” ต่อประธานาธิบดีทรัมป์ จำนวน 2 ร่างญัตติด้วยกัน ได้แก่ 1.การใช้อำนาจไปในทางมิชอบ และ 2. ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาสหรัฐฯ หรือสภาคองเกรส จากกรณีที่จะให้ดำเนินการไต่สวนที่ประธานาธิบดีทรัมป์ในเรื่องยูเครน ผลของมติการประชุมคณะกรรมาธิกาฯ ที่ออกมา ก็ต้องบอกว่า ไม่เหนือความคาดหมายที่คิดกันไว้ตั้งแต่ต้น คือ ต้องผ่านความ “เห็นชอบ” ต่อสองญัตติข้างต้น เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมาธิการฯ เป็นพลพรรคของพรรคเดโมแครต แถมมิหนำซ้ำประธานคณะกรรมาธิกาฯ คือ นายเจอร์โรลด์ แนดเลอร์ ก็ยังเป็นหนึ่งในแกนนำของเดโมแครตอีกต่างหาก ก็ส่งผลให้มติ “เห็นชอบ” ออกมาเป็น 23 ต่อ 17 เสียง และก็เป็นเหตุให้นายทรัมป์ กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ ที่ต้องเผชิญกับกระบวนถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรืออิมพีชเมนต์ (Impeachment) คือ ประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ที่ถูกยื่นถอดถอนเมื่อปี 2411 (ค.ศ. 1868) จากการที่เขาไปปลดนายเอ็ดวิน สแตนตัน ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการทำสงคราม เพราะขัดแย้งกันในเรื่องนโยบาย และประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน จากกรณีอื้อฉาวเชิงชู้สาวกับ “โมนิกา ลูวินสกี” เมื่อปี 2542 (ค.ศ. 1999) ซึ่งอดีตประธานาธิบดีทั้งสองคนสามารถรอดพ้นจากการลงมติอิมพีชเมนต์ในครั้งนั้นมาได้ ทั้งนี้ การประชุมเพื่อลงมติของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ก็มีขึ้นภายหลังจากรัฐสภาสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สังกัดพรรคเดโมแครต ไฟเขียวให้มีการไต่สวนสาธารณะจากกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีทรัมป์โทรศัพท์ไปกดดันประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำใหม่ของยูเครน เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนต่อข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตของสองพ่อลูกตระกูลไบเดน คือ นายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายฮันเตอร์ ไบเดิน หนึ่งในผู้บริหารของ “บูริสมา” บริษัทด้านพลังงานในยูเครน เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือทางทหารประจำปีจำนวน 391 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทางการสหรัฐฯ เริ่มไต่สวนกรณีที่เรียกว่า “ยูเครนเกต” นี้ ตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ด้วยการสอบปากคำพยานต่างๆ เช่น นายกอร์ดอน ซอนด์แลนด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งถูกระบุว่า รู้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง เรื่องราวที่ประธานาธิบดีทรัมป์สนทนากับประธานาธิบดีเซเลนสกี จนถูกยกให้เป็น “พยานปากสำคัญ” ก่อนกระบวนไต่สวนจะเดินหน้านำไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ซึ่งผลจากมติที่ออกมา ก็จะมีผลให้สู่ขั้นตอนต่อไป นั่นคือ การนำสองญัตติที่ผ่านการเห็นชอบข้างต้น ไปสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ หรือ “สภาล่าง” ซึ่งทางสภาล่างของสหรัฐฯ ก็จะประชุมพิจารณาแบบเต็มองค์คณะ (Full House Vote)ในวันพุธนี้ ตามวันเวลาท้องถิ่น ส่วนในไทยเราก็อาจจะทราบผลกันในวันพฤหัสบดี โดยตามที่ประเมินกันของบรรดาคอการเมืองสหรัฐฯ ระดับฮาร์ดคอร์ทั้งหลาย ก็คาดการณ์กันว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก็คงจะมีมติเห็นชอบให้ถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากในเวทีสภาล่างของสหรัฐฯ ณ ชั่วโมงนี้ เสียงข้างมากเป็นพลพรรคเดโมแครต โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 235 เสียง ขณะที่ พรรครีพับลิกันของประธานาธิบดีทรัมป์ มีจำนวนเพียง 199 เสียง เท่านั้น จากจำนวนเต็มของสภาล่างทั้งสิ้น 435 ที่นั่ง โดยผลการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ นั้น ก็ยื่นเสนอให้ “วุฒิสภา” หรือ “สภาซีเนต” อันเป็น “สภาสูง” ของสหรัฐฯ ได้ประชุมพิจารณากันต่อไป ซึ่งตามกำหนดการคร่าวๆ ที่ออกมา ก็ระบุว่า สภาซีเนตสหรัฐฯ จะประชุมพิจารณาในสองญัตตินี้ในช่วงเดือนหน้า คือ เดือน ม.ค. พ.ศ. 2563 (ค.ศ.2020) นั่นเอง ท่ามกลางความคาดหมายของบรรดานักวิเคราะห์ที่ต่างออกมาแสดงทรรศนะฟันธงตรงกันเป็นเสียงเดียวว่า การสัประยุทธ์บนสังเวียนสภาซีเนตที่จะมีขึ้นนั้น รีพับลิกันจะเป็นฝ่ายกำชัย เพราะเป็นพรรคที่ครองเสียงข้างมากในสภาดังกล่าว โดยมีตัวเลขระบุว่า พรรครีพับลิกันมี ส.ว. จำนวน 51 เสียง ขณะที่ พรรคเดโมแครต มีจำนวน 49 เสียง จากจำนวนทั้งสิ้น 100 ที่นั่ง นอกจากพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากจนได้เปรียบในการลงมติแล้ว ตามบทบัญญัติทางกฎหมายก็ระบุว่า การที่จะลงมติถอดถอน หรืออิมพีชเมนต์ ให้ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่งนั้น ญัตติที่ว่าก็จะต้องให้ได้ 2 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา หรือ 67 เสียง ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากที่พรรคเดโมแครต จะสร้างปรากฏการณ์ “งูเห่า” ในรีพับลิกันได้จำนวนมากขนาดนั้น ท่ามกลางระบบพรรคการเมืองอันเข้มแข็งของสหรัฐฯ ที่เป็นอยู่ ด้วยประการฉะนี้ ก็ส่งผลให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ดูจะไม่ยี่หระต่อกระบวนการอิมพีชเมนต์ที่เขาเผชิญหน้า ถึงขนาดเอ่ยปากให้ทางเดโมแครตเร่งถอดถอนเขาเสียโดยเร็วแบบเย้ยกันอยู่ในที กอปรกับล่าสุดทางพลพรรครีพับลิกัน ก็ได้ออกมาประกาศกันอย่างชัดเจนแล้วว่า ญัตติถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องถูกคว่ำบนเวทีวุฒิสภา ในการประชุมที่จะมีขึ้นเดือนหน้าอย่างแน่นอน ถึงขนาดที่นายมิตช์ แม็คคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากวุฒิสภาของรีพับลิกัน เอ่ยปากออกมา โอกาสถอดถอนมีตัวเลขเป็นศูนย์ มีการเปรียบเทียบกระบวนการถอดถอนผ่านระบบสภาของสหรัฐฯ กันด้วยว่า สภาผู้แทนราษฎร เปรียบเสมือน “อัยการ” ที่ส่งเรื่อง ส่งสำนวนคำฟ้องให้ดำเนินคดี ส่วนวุฒิสภา เปรียบเสมือน “ศาล” ที่จะทำหน้าทำหน้าที่พิพากษาตัดสิน เมื่อศาลเป็นใจให้แก่นายทรัมป์กันเยี่ยงนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่ทางเดโมแครต จะทำให้เขากระเด็นตกจากเก้าอี้ประธานาธิบดี ดูเหมือนว่า สถานการณ์ข้างต้นนั้น ภายในพรรคเดโมแครตก็ทราบดี และมีการแบ่งฝ่ายว่า จะอิมพีชเมนต์ต่อประธานาธิบดีทรัมป์หรือไม่? โดยฝ่ายที่ไม่คัดค้านอิมพีชเมนต์เห็นว่า เอาเวลาไปสู้ศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่ถึงปีจะดีกว่า ซึ่งแม้แต่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และเป็นแกนนำพรรคเดโมแครต แรกๆ ก็อยู่ในฝ่ายต่อต้านอิมพีชเมนต์ ก่อนเปลี่ยนขั้วภายหลัง โดยมีรายงานว่า นางเพโลซี ก็ไม่ค่อยเต็มใจที่จะมายืนอีกฝ่ายมากนัก เนื่องจากผลโพลล์ของชาวอเมริกัน ออกมาว่า ประชาชนมีทั้งเห็นด้วยและคัดค้านการอิมพีชเมนต์ ด้วยจำนวนที่ใกล้เคียงก้ำกัน คือ เห็นด้วยร้อยละ 49 และคัดค้านร้อยละ 47 โดยนางแนนซีเป็นห่วง ส.ส.เดโมแครตสายกลาง ในพื้นที่รัฐสวิงโหวต ที่ประชาชนมีท่าทีว่า ไม่เห็นด้วยกับการอิมพีชเมนต์ในครั้งนี้สักเท่าไหร่ เพราะเหลือเวลาอีกเพียงปีเดียวเท่านั้น สู้ปล่อยให้ประชาชนอเมริกันชนไปตัดสินในคูหาเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 3 พ.ย.ปีหน้าจะดีกว่า