จากคณะแพทย์ จุฬาฯ รับรางวัลสูงสุดผู้มีความความสามารถและมีผลงานวิจัยด้านการดูแลสุขภาพเส้นผมนานาชาติ ทั้งยังอายุน้อยที่สุด โดย 2 ปีก่อนหน้า คว้ารางวัลที่ 1  งานวิจัยชิ้นแรกในเอเชียที่ได้ตีพิมพ์ในรูปแบบโปสเตอร์ เป็นข่าวดีสำหรับวงการแพทย์ผิวหนังไทย ที่ รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป อาจารย์ประจำ สาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแพทย์หญิงไทยคนแรก ที่ได้รับรางวัลสูงสุดสำหรับผู้ที่มีความสามารถและมีผลงานงานวิจัยด้านเส้นผม และยังมีอายุน้อยสุดจากผู้ที่เคยได้รับรางวัลจากสมาคมศัลยกรรมปลูกผมนานาชาติหรือสถาบัน International Society of Hair Restoration Surgery (ISHRS) ในการประกาศรางวัล Platinum Follicle Award 2019 ของสมาคม ISHRS ในการประชุม World Congress Meeting ครั้งที่ 27 ที่ กรุงเทพ เมื่อวันที่  13 -16 พ.ย.62 ที่ผ่านมา สำหรับรางวัล Platinum Follicle Award 2019 เป็นรางวัลสูงสุดสำหรับผู้ที่มีความสามารถและมีผลงานวิจัยด้านการดูแลสุขภาพ ที่มีความสำเร็จที่โดดเด่นในการวิจัยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หรือทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับพยาธิสรีรวิทยาของเส้นผมหรือกายวิภาคศาสตร์เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเส้นผม รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร กล่าวว่า รางวัลเป็นเพียงสิ่งตอบแทนอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งสำคัญในการทำงานวิจัยแต่ความรู้ที่ได้คือ สิ่งสำคัญที่ได้ทำ สำหรับโรคผิวหนังแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะมองดูแต่เพียงผิวเผิน คิดว่ามีแต่ความสวยงาม แต่แท้จริงแล้วยังมีโรคผิวหนังอื่น ๆ อีกมากมาย และโดยส่วนตัวก็ชอบเรียนเรื่องผมมานานแล้ว หลังจากเรียนศัลยศาสตร์เลเซอร์ผิวหนังจบ จึงสนใจมาเรียนทางด้านปลูกผมต่อ และปัจจุบันก็ทำงานด้านนี้ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ของเวลาทำงานทั้งหมด ก่อนหน้านี้  รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ได้สร้างชื่อเสียงให้กับวงการแพทย์ไทยจากผลงานวิจัยในงาน ISHRS Poster Awards 2017  ที่จัดโดยสมาคมศัลยกรรมปลูกผมนานาชาติ (International Society of Hair Restoration Surgery) เช่นกัน เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยได้ส่งบทความพิเศษเพื่อการนำเสนองานวิจัย (ประเภทโปสเตอร์) ในหัวข้อวิจัย "Proteomic Analysis in Dermal Papilla from Male Androgenetic Alopecia After Treatment with Low Level Laser Therapy"  และสามารถคว้ารางวัลที่ 1 ในประเภทงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบของโปสเตอร์ ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกในเอเชีย ในการยืนยันประสิทธิภาพของกระบวนการรักษาด้วยเลเซอร์ความเข้มต่ำ เพื่อขจัดปัญหาโรคผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าการใช้เลเซอร์ที่มีความเข้มต่ำในการกระตุ้นให้หนังศีรษะสร้างเส้นผมนั้น ให้ผลดีที่ 24 สัปดาห์ โดยความสำเร็จครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของการศึกษาในประเทศไทย สำหรับสมาคมศัลยกรรมปลูกผมนานาชาติหรือ (ISHRS)  ก่อตั้งขึ้นในปี 1993 โดยเป็นสมาคมศัลยกรรมปลูกผมที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยสมาชิกกว่า 1,000 คนจากกว่า 70 ประเทศ