หากเอ่ยถึง “เรือบรรทุกอากาศยาน” หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า “เรือบรรทุกเครื่องบิน” แล้ว ก็ต้องถือเป็น “อาวุธยุทโธปกรณ์” ประเภทหนึ่งที่ถูกนับเนื่องให้อยู่ในบัญชีรายชื่อ “การแข่งขันแสนยานุภาพทางกองทัพ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กองทัพเรือ” ลูกนาวี ที่บรรดาผู้สันทัดกรณีต่างกล่าวขานว่า ประเทศถ้าจะเป็นมหาอำนาจทางทะเล ก็ไม่ควรพลาดที่จะมีเรือบรรทุกอากาศยานนี้ไว้ในครอบครอง ทั้งนี้ เพราะนอกจากเป็นเรือรบ เรือพิฆาต เพื่อเปิดศึกทางน้ำแล้ว เรือบรรทุกอากาศยานที่ว่า ก็ไม่ผิดอะไรกับ “ป้อมบินรบลอยน้ำ” เพราะบนเรือได้บรรทุกเครื่องบินรบรุ่นต่างๆ ประดามี เช่น ฝูงบินขับไล่ เป็นต้น ด้วยประการฉะนี้ นานาชาติมหาอำนาจทั้งหลาย จึงได้แข่งขันกันบรรจุให้เรือบรรทุกเครื่องบินที่ว่า ประจำการไว้ในกองทัพเรือ แถมยังแข่งขันกันอย่างดุเดือดอีกต่างหากด้วย ทั้งในขนาด คือ ความใหญ่โตมโหฬารทางระวางขับน้ำ และปริมาณ คือ จำนวนของเรือที่มีไว้ในครอบครอง ตลอดจนความล้ำสมัยในเทคโนโลยีของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ประจำการบนเรือ ถึงขนาดนักการผู้เชี่ยวชาญทางทหาร ยกย่องให้เรือบรรทุกเครื่องบินนี้ เป็น “สัญลักษณ์แห่งความโอ้อวดอันโดดเด่น (Conspicuous Symbol)” ของประเทศทั้งหลายกันเลยทีเดียว ส่งผลให้ ณ เวลานี้ คือ เดือน ธ.ค.2019 (พ.ศ. 2562) โลกของเรามีเรือบรรทุกเครื่องบิน ท่องตามน่านน้ำท้องทะลต่างๆ รวมแล้ว 41 ลำด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าเปรียบเทียบกับตัวเลขของเมื่อช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ปรากฏว่า ในยุคนั้นโลกเรามีเรือบรรทุกเครื่องบินรวมแล้วราว 150 ลำ ซึ่งในครั้งนั้นมีเพียง 4 ประเทศเท่านั้น ที่มี “ป้อมบินรบลอยน้ำ” ประจำการในกองทัพเรือ ได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่า เรือบรรทุกเครื่องบินของญี่ปุ่น ถือว่าใหญ่ที่สุดในช่วงนั้น แต่ปรากฏทั้งสองชาติมหาอำนาจฝ่ายอักษะในยุคนั้น คือ เยอรมนี และญี่ปุ่น เป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามในสงครามโลกครั้งดังกล่าว และถูกจำกัดการครอบครองอาวุธและการจัดการกองทัพไป ทว่า สำหรับในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีจำนวนเรือบรรทุกเครื่องบินน้อยกว่าในยุคที่กล่าวมากว่า 3 เท่า ถึง ณ ชั่วโมงนี้ ก็จะส่งสัญญาณว่า ปริมาณการครอบครองก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นลำดับ ทั้งจำนวนเรือ และประเทศที่มีประจำการในเวลานี้ 13 ประเทศ ด้วยกัน ท่ามกลางความสนใจในหลายประเทศที่เริ่มตั้งหมุดหมายยุทธศาสตร์เรือบรรทุกเครื่องบิน คือ ต้องการมีเรือบรรทุกอากาศยานไว้ประจำการในกองทัพชาติตน โดยประเทศที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการมากที่สุดในเวลานี้ ได้แก่ “สหรัฐอเมริกา” เจ้าของฉายา “พญาอินทรี” นั่นเอง ด้วยจำนวน 11 ลำ ทั้งนี้ นอกจากมีจำนวนมากที่สุดแล้ว กองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ก็ได้ชื่อว่า ใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่าใครๆ อีกต่างหากด้วย โดยแต่ละลำก็ใช้พลังงานนิวเคลียร์ เพื่อการขับเคลื่อนเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ ซึ่งตามรายงานก็ระบุว่า ทั้ง 11 ลำข้างต้น ก็ขนบรรทุกเครื่องบินรบ ระดับเครื่องบินขับไล่รวมแล้วกว่า 80 ลำด้วยกัน ทั้งนี้ แต่ละลำล้วนมีขนาดมหึมา มีระวางขับน้ำเป็นแสนตันก็มี เช่น “เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน” เป็นต้น ส่วนประเทศที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการในกองทัพเรือระดับแถวหน้า ก็ได้แก่ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น ล่าสุด ก็เป็น “จีนแผ่นดินใหญ่” ที่ปรากฏว่า สามารถพัฒนาจนถึงขั้นสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินด้วยตัวเองขึ้นเป็นลำแรกได้เป็นผลสำเร็จ แถมมีขนาดที่ต้องบอกว่า มหึมาไม่น้อย คือ มีระวางขับน้ำราว 57,000 ตัน นั่นคือ “เรือบรรทุกเครื่องบินเหลี่ยวหนิง” จนได้รับการจับตาว่า พญามังกร มหาอำนาจแห่งบูรพาแห่งนี้ คือ คู่แข่งทางการทหารที่สำคัญของสหรัฐฯ ที่พร้อมจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในอนาคต นอกจากจีนแล้ว ก็ยังมี “อินเดีย” ได้รับการจับตามองชาติที่ครอบครองเรือบรรทุกเครื่องบิน เพื่อเป็นเขี้ยวเล็บของพวกเขาเช่นกัน โดยมีรายงานว่า ทางการอินเดีย ได้ใช้จีนแผ่นดินใหญ่ เป็นเกณฑ์วัดที่สำคัญสำหรับการแข่งขันแสนยานุภาพทางการทหาร ซึ่งรวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบินกับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยในเวลานี้อินเดียมีเรือบรรทุกเครื่องบิน “ไอเอ็นเอส วิกรามาทิตยา” ขนาดระวางขับน้ำ 45,400 ตัน ไว้ประจำการ ทั้งนี้ ตามการเปิดเผยของ พล.ร.อ.การามพีร์ ซิงห์ ผบ.ทร.ของอินเดีย ระบุว่า มีแผนที่จะให้กองทัพเรืออินเดีย มีเรือบรรทุกเครื่องบินปรจำการให้ได้ประมาณ 3 ลำเป็นอย่างน้อย เพื่อลดช่องว่างต่อจีนแผ่นดินใหญ่ ที่มีเป้าหมายไว้ที่ 6 ลำ ภายในปี 2592 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า นอกเหนือจากการสั่งสมแสนยานุภาพทางทหารอื่นๆ หลังจีนแผ่นดินใหญ่ รุกคืบขยายอิทธิพลเข้ามายังมหาสมุทรอินเดีย จนถึงขั้นมาตั้งฐานทัพในจิบูตีเป็นต้น สร้างความกังวลให้แก่อินเดียไม่น้อย ส่งผลให้ทางการนิวเดลี ต้องเร่งผุดแผนจัดหาเรือบรรทุกเครื่องบินมาเสริมเขี้ยวเล็บรับมือ