นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน ทั้งด้านการพัฒนาและการตลาด โดยมุ่งให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตพื้นที่การพัฒนาการท่องเที่ยว ทั้งนี้ การท่องเที่ยวโดยชุมชนถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของตนเอง และร่วมรับประโยชน์จากการท่องเที่ยว สำหรับการท่องเที่ยวชุมชนของไทยยังมีจุดเด่นที่น่าสนใจหลายด้าน เนื่องจากมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติ และวิถีชีวิต ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง อีกทั้งการมีอุปนิสัยที่อ่อนโยนและเป็นมิตรเป็นเสน่ห์ ที่น่าประทับใจ เพราะฉะนั้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนจึงสามารถสร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำและการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้มีการวางนโยบาย เพื่อสร้างความหลากหลายของการท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาที่พักในรูปแบบของ Home lodge หรือที่พักนักเดินทาง เพื่อให้รองรับนักท่องเที่ยวที่มีรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวที่ปรับเปลี่ยนไป โดยมีการเดินทางด้วยตัวเอง หรือ เอฟไอทีมากขึ้นตามลำดับ รวมถึงกระแสการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการลดการกระจุกตัวในเมืองหลัก และเพิ่มการกระจายตัวในพื้นที่เมืองรอง รวมถึงการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งที่พักแบบ Home lodge จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพที่พักนักเดินทาง (Home lodge) เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อย่างทั่วถึง และเป็นโอกาสที่ดีที่จะส่งเสริมและยกระดับคุณภาพของที่พัก เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีสถานประกอบการด้านที่พักอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง และชุมชนที่มีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวต่างคาดหวังในเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด ความสะดวกของการเดินทางท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้ กระทรวง ฯ จึงสร้างความเชื่อมั่นในด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะด้านที่พักซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการเดินทางท่องเที่ยว จึงได้มอบหมายให้กรมการท่องเที่ยว ผนึกกำลังกับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงฯ ตามนโยบายแผนบูรณาการการทำงานร่วมกัน ส่วนการจัดเกณฑ์คุณภาพของที่พักนักเดินทาง จะกำหนดโดยมีหลักเกณฑ์คุณภาพในการดำเนินการของผู้ให้บริการด้านที่พัก เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง โดยมีหลักการพิจารณาองค์ประกอบ 5 ด้าน เกณฑ์ตัวชี้วัด 14 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย สะอาด สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม และรักษ์สิ่งแวดล้อม มีขั้นตอนการตรวจเกณฑ์คุณภาพด้วยการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานต่างๆ ซึ่งพิจารณาและประเมินสภาพพื้นที่ทางกายภาพ และการสัมภาษณ์พร้อมประเมินข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ถ้าหากผ่านการตรวจเกณฑ์คุณภาพ กรมการท่องเที่ยวจะมอบตราสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ประกอบการที่พักนักเดินทาง โดยไม่มีอายุการรับรอง แต่จะมีการติดตามคุณภาพที่พักอย่างเป็นระยะ นอกจากนี้ กรมการท่องเที่ยว จะมีการจัดสัมมนาเพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยจัดอย่างน้อยภูมิภาคละ 1 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ รวมไม่น้อยกว่า 1,000 คน กำหนดจัดครั้งแรกในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 250 คน มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กรวมถึงชุมชนที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้การเปิด Home Lodge ครั้งแรก ในปี 2563 ได้ตั้งเป้าหมายอยู่ที่จำนวน 600 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 1,500 แห่งต่อไป คาดว่าน่าจะมีผู้เข้าพักหมุนเวียนเป็น 10,000 รายต่อปี ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า การท่องเที่ยวชุมชนจะประสบผลสำเร็จจะต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชน ด้วยการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เพื่อต้อนรับและสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว ร่วมกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วยมิตรไมตรีที่ดี ซึ่งจะสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง