วันที่ 13 ธ.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วิทยาลัยเทคนิคสตูล มีการจัดงานการประกวด “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ และโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับอาชีวศึกษา ประจำปี 2562 โดยเชิญนายศักระ กปิลกาญจน์ รองผวจ.สตูลเป็นประธาน ดร.เสริมศักดิ์ นิลวิลัย ผอ.วิทยาลัยเทคนิคสตูลและคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ การจัดงานประกวดในครั้งนี้มี 3 ศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาส่งเข้าประกวด แบ่งเป็นการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่มีจำนวน 9 ประเภท 1 องค์ความรู้ รวมทั้งสิ้น 31 ผลงาน ประกอบด้วย ประเภทสิ่งประดิษฐ์ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต , ประเภทสิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ ,ประเภทสิ่งประดิษฐ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน , ประเภทสิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหาร , ประเภทสิ่งประดิษฐ์ด้านหัตถศิลป์ และประเภทสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมซอฟแวร์และระบบสมองกล ประเภทสิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์หรือบรรเทาสาธารณภัย ประเภทสิ่งประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ สิ่งประดิษฐ์ภาคภาษาอังกฤษ หนึ่งในผลงานการประดิษฐ์ คือการทำ “เครื่องตำกะปิ” ของวิทยาลัยการอาชีพละงู เกิดจากแนวคิดพื้นที่ จ.สตูล ติดทะเลมีการประกอบอาชีพทำกะปิจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ใช้แรงงานตำกะปิกับครกไม้ จึงเกิดแนวคิดนำครกกับสากไม้มาติดมอเตอร์ พูเล่ สายพาน และบูชแบริ่ง เมื่อกดสวิกซ์ครกจะตำเอง เป็นการผ่อนแรง และทำให้ในปริมาณมาก ๆนานเท่าที่ต้องการได้ นายธนัท โชติมันต์ และนายอาซาน ลาทัพ พร้อมเพื่อนสมาชิกอีก 10 คนยอมรับว่าแนวคิดนี้สามารถช่วยเพิ่มกำลังผลิตให้เกษตรกรได้ เพราะช่วยผ่อนแรง แต่ยังพบจุดอ่อนที่ต้องมีการพัฒนาในส่วนของครกให้ลึกและหมุนได้เพื่อให้การทำงานไม่ต้องมีคนเฝ้า ซึ่งจะมีการพัฒนาในโอกาสต่อไป ซึ่งตอนนี้มีชาวบ้านสนใจเข้ามาดูแล้วที่วิทยาลัยการอาชีพละงู หรือติดต่อสอบถามได้ที่ นายธีรพล ทองบุญ ครูที่ปรึกษา 083 897 4995 การจัดงานในครั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา มีนโยบายมุ่งพัฒนาและยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนให้เยาวชนได้คิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ อาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ ทันสมัย ได้มาตรฐาน สามารถนำไปใช้งานได้จริงตรงตามความต้องการของผู้ใช้ในชุมชน และสังคม เพื่อก้าวสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชย์กรรมที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติตามนโยบาย Thailand 4.0 ดร. เสริมศักดิ์ นิลวิลัย ผอ.วิทยาลัยเทคนิคสตูล กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการสร้างองค์ความรู้มาสร้างชิ้นงานตั้งแต่เบื้องต้นไปถึงขั้นระดับสูงสุดแล้วแต่ชิ้นงาน หรือนำมาต่อยอด การประมวลองค์ความรู้ที่มี ซึ่งระดับของนักศึกษาอาจแตกต่างกัน ใน ปวช.ครูอาจจะบอกทั้งหมด ในระดับปวส.เด็กคิดส่วนหนึ่งครูบอกส่วนหนึ่ง สุดท้ายคือได้ประโยชน์ทั้งคู่ แต่สิ่งที่มุ่งหวังคือกระบวนการคิด การแก้ปัญหา การเก็บรวบรวมข้อมูล การสรุปผล หากไปอยู่ในตัวเด็กเมื่อไหร่จะคิดอย่างเป็นระบบ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักที่มีการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้นำสิ่งที่มีออกมานำเสนอ ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวมากมายเริ่มตั้งแต่ตัวเอง เอกสาร ข้อมูล เป็นการเปิดพื้นที่ให้ลูกหลานได้ใช้ศักยภาพที่มี สร้างผู้เรียนให้คิดรวบยอด