ปิดฉากไปแล้ว กับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2019 ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ พร้อมกับเกิดนักกีฬาในดวงใจของคนไทยหลายคน หนึ่งในนั้น รายการไฮไลต์สำคัญอย่าง วิ่งผลัด 4×100 เมตร ประเภททีมชาย ที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 คว้าเหรียญทอง ด้วยเวลา 39.27วินาที ทั้งยังลงแข่งวิ่ง 100 เมตรชาย เป็นครั้งแรก ได้เหรียญทองแดง จากผลงานของ จ่าอากาศตรี บัณฑิต ช่วงไชยหรือมอส หนุ่มนักวิ่งดาวรุ่ง วัย 26 ปี ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโทสาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ดาวเด่นดวงนี้ “มอส” เป็นคน จ.อุบลราชธานี พ่อทำงานรับจ้างทั่วไป ส่วนแม่จากไปเมื่อหลายปีก่อน โดยมีน้องสาวอีกหนึ่งคน ม.ต้น มอสเรียนที่โรงเรียนบ้านสบสา จ.พะเยา จากนั้นไปต่อที่โรงเรียนกีฬา จ.อุบลราชธานี และสนใจกีฬาประเภทกรีฑาตั้งแต่นั้น กระทั่งจบ ป.ตรี ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จากภาพที่เห็นเบื้องหน้า หลายคนมักมองว่า “นักกีฬาเป็นอภิสิทธิ์ชน ไม่ต้องเข้าเรียนเช่นคนทั่วไปก็เรียนจบ” แต่เบื้องหลัง หารู้ไม่ว่า นักกีฬา โดยเฉพาะทีมชาติไทยต่างต้องทุ่มเทฝึกซ้อม เก็บตัวฝึกฝนอย่างหนัก หาประสบการณ์แมตช์ต่าง ๆ ตามการวางแผนที่เข้มข้น ทั้งยังต้องสูญเสียเวลาส่วนตัว แน่นอนว่านักกีฬาอาจได้รับโควตาหรือเงื่อนไขพิเศษ แต่จะต้องแลกด้วยการสร้างชื่อเสียงและคว้าชัยสำคัญมาให้ได้ มอส ว่าการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นสำคัญ ที่จะพาชีวิตให้มีคุณค่า จึงเรียนต่อ ป.โท ที่ มทร.ธัญบุรี ตามคำแนะนำรุ่นพี่ ด้วยเห็นว่าที่นี้ จัดอีเวนต์ด้านกีฬาค่อนข้างสม่ำเสมอ อาจช่วยส่งเสริมให้ได้ฝึกซ้อมพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นต่อไปได้ รวมทั้งด้วยชื่อเสียงด้านคุณภาพวิชาการ มอส เล่าว่า ติดทีมชาติครั้งแรกเมื่อปี 2558 กีฬาซีเกมส์ ประเทศสิงคโปร์ ตอนนั้นไม่ได้ลงแข่งเพราะบาดเจ็บ จึงได้เป็นตัวสำรอง ถัดมาได้ลงแข่งที่ประเทศมาเลเซีย วิ่งผลัด 4×100 เมตร ได้เหรียญทอง ล่าสุดที่ประเทศฟิลิปปินส์ คว้ามาได้ 2 เหรียญอย่างภาคภูมิใจ คือเหรียญทองและทองแดง อันเป็นผลมาจากการมีวินัยต่อตนเองทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่า “หากต้นทางมีวินัยฝึกซ้อมที่ดีและต่อเนื่อง ปลายทางจะคว้าชัยประสบความสำเร็จ” การเก็บตัวฝึกซ้อม เป็นคุณสมบัติพื้นฐานสำคัญของนักกีฬาทุกคนที่เป็นมืออาชีพ ยิ่งได้รับใช้ชาติ ยิ่งจะต้องทุ่มเทและตั้งใจด้วยความสม่ำเสมอ มอสยกว่า “การแข่งขันวิ่งผลัด 4×100 เมตร ใช้เวลาแข่งเพียงแค่ไม่ถึง 1 นาที แต่ต้องใช้เวลาซ้อมกันเป็นปี” ที่ผ่านมาได้ไปเก็บตัวฝึกซ้อมที่อเมริกา กาต้าร์ และโปแลนด์ โดยได้ร่วมตระเวนแข่งขัน เก็บสถิติเพื่อดึงศักยภาพของตนเองออกมาให้ได้มากที่สุด ตามมาตรฐานการแข่งขันระดับสากล ได้สัมผัสกับประสบการณ์ระดับโลก “บางครั้งการแข่งขันในเวทีต่างประเทศ มีนักวิ่งที่มีชื่อเสียงมากมาย แม้ศักยภาพเรายังไม่เท่าเขา แต่เราได้ลงแข่งขันในแมตช์เดียวกัน จึงได้เรียนรู้วิธีการและเทคนิค แล้วนำมาใช้พัฒนาตนเองได้” หลายคนสงสัยและมักถามเสมอเรื่องแบ่งเวลา โดยเฉพาะการฝึกซ้อม การเรียนและครอบครัว “ผมเชื่อว่า...ไม่มีอะไรดีไปกว่าการวางแผน การพูดคุยสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจ” เรื่องการซ้อม การเรียนและครอบครัว เป็นเรื่องที่ขนานควบคู่กันอยู่แล้ว แต่ต้องพูดคุยและหาจุดร่วมระหว่างกันให้ได้ เพื่อให้เกิดความลงตัว และจะทำให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ภายใต้การตระหนักถึงหน้าที่สำคัญ นั่นคือการรับใช้ชาติด้วยการเป็นนักกรีฑาทีมชาติไทย “คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมองที่ต้นทางว่านักกีฬาต้องผ่านอะไรมาบ้าง ต้องซ้อมหนักแค่ไหน ทุ่มเทหนักอย่างไร หรือบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมมากแค่ไหน เพราะเขาจะเห็นเพียงแค่ปลายทาง” เหนือสิ่งอื่นใดของการเป็นนักกรีฑา นั่นคือทีมนักกีฬาที่ร่วมแข่งขันด้วยกัน และกำลังใจแรงเชียร์ มอส ยืนยันด้วยว่า “เสียงเชียร์ เสียงปรบมือ คือพลังที่ทำให้เราหายเหนื่อย” กว่าที่ตนเองจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและย้ำชัดว่าไม่ใช่โชคชะตา แต่เป็นเพราะความอดทนทุ่มเท ผสมผสานกับโอกาสอันสำคัญที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง มอสว่าสิ่งหนึ่งที่อยากจะเอ่ยคือการตอบแทนและขอบคุณทุกฝ่าย ทั้งการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกทั้งสตาฟโค้ชต่าง ๆ รวมถึงกองทัพอากาศ และที่สำคัญอยากขอบคุณ มทร.ธัญบุรี ที่ให้การสนับสนุนอย่างอบอุ่นและผลักดันตนเองเสมอมา “จะตั้งใจทำงาน รับใช้ชาติ ด้วยการเป็นนักกรีฑามืออาชีพที่ดี และจะสร้างความภาคภูมิใจกับคนไทยทุกคนในโอกาสต่อไปให้ได้”           มอส มองอนาคตในแมตช์ต่อไปโดยคาดหวังจะได้ไปแข่งขันกีฬามหกรรมกีฬาโอลิมปิก Tokyo 2020 ด้วยการมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้สถิติผ่านควอลิฟาย และยังทิ้งท้ายว่า “อยากทำให้คนไทยมีความสุข และจะนำธงชาติไทยไปโปกสะบัดในเวทีการแข่งขันต่อไปให้ได้” อลงกรณ์ รัตตะเวทิน. มทร.ธัญบุรี