ตัวแทนชุมชนตลอดเส้นทางโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (โครงการผันแม่น้ำยวม) รวมถึงชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ต่างแสดงความเห็นคัดค้านโครงการดังกล่าว และเตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถึงความเสียหายต่างๆที่จะตามมามากมาย โดยเฉพาะระบบนิเวศของผืนป่ารอยต่อ 3 จังหวัด คือแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และตาก ซึ่งจะมีการเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาผ่าป่าอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 6-10 ธ.ค.2562 ทีมผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลจังหวัดแม่ฮ่องสอนและตาก หรือเรียกสั้นๆว่าโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่แม่น้ำยวม ระหว่าง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยจะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมห่างจากจุดบรรจบกับแม่น้ำเมยไปทางเหนือน้ำ 13.8 กิโลเมตร เป็นเขื่อนคอนกรีต มีความสูง 69.50 เมตร ยาว 180 เมตร เพื่อยกระดับน้ำให้กับสถานีสูบน้ำที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านแม่เงา อ.สบเมย และจะสูบน้ำขึ้นไปยังบ่อพักน้ำก่อนที่จะส่งลงสู่อุโมงค์คอนกรีตดาดเหล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 8.30 เมต โดยความยาวของอุโมงค์ราว 63.47 กิโลเมตร เพื่อผันน้ำไปลงที่ห้วยแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ทั้งนี้ในจุดแรกที่ทีมผู้สื่อข่าวลงพื้นที่คือห้วยแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นปากอุโมงค์ที่ผันน้ำมาลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยมีนายวันชัย ศรีนวล ผู้ใหญ่บ้านแม่งูดพาไปดูจุดที่เป็นปากอุโมงค์ บริเวณดังกล่าวอยู่ริมห้วยแม่งูด ซึ่งหมู่บ้านแม่งูดมีประชากรราว 700 คน ส่วนใหญ่มีเชื้อสายกะเหรี่ยง และเคยได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพลเมื่อ พ.ศ.2507 นายวันไชย กล่าวว่า ตนและชาวบ้านต่างคัดค้านผันน้ำยวมครั้งนี้เพราะเป็นโครงการที่จะทำให้น้ำท่วมที่ดินทำกินของชาวบ้านไม่น้อยกว่า 50 ราย ซึ่งชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่อาศัยในย่านนี้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพลมาแล้วครั้งหนึ่งตั้งแต่ 50 กว่าปีก่อน ชาวบ้านต้องอพยพโยกย้ายมาอยู่ปลายอ่างเก็บน้ำ โดยที่ดินที่ชาวบ้านทำกินในปัจจุบันเป็นของนิคมสหกรณ์แม่แจ่ม ซึ่งมีเพียงใบจับจองเท่านั้น แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ใดๆ พื้นที่ที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 260 เมตร (ม.รทก.) เป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ชาวบ้านก็อยู่ริมๆ ขอบอ่าง หากพ้นแนวดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ป่าสงวน ทุกวันนี้ชาวบ้านอยู่แบบห่วงกังวลเพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ เป็นของตัวเอง ทั้งที่อยู่กันมนาน “กรมชลประทานผลักดันโครงการผันน้ำครั้งนี้ เขาคงคิดว่าพื้นที่ตามแนวอุโมงค์ไม่ต้องเวนคืนอะไร เพราะเป็นพื้นที่ป่าสงวนและที่ดินของอ่างเก็บน้ำ เขาไม่ได้คิดว่าบริเวณนี้มีชาวบ้านทำกินอยู่ และชาวบ้านคุยกันหลายครั้งแล้วว่าโครงการนี้แทบไม่มีประโยชน์กับพวกเราเลย เพราะผันน้ำแค่ช่วงหน้าฝน ซึ่งช่วงนั้นพวกเรามีน้ำเยอะอยู่แล้ว เขาบอกว่าเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับคนภาคกลาง แต่ชาวบ้านในพื้นที่กลับไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลย พวกเราอยู่ขอบๆ อ่างก็เกิดน้ำท่วมเสมออยู่แล้ว หากเพิ่มน้ำมาอีกก็จะท่วมสวนลำไยของพวกเรา” นายวันไชย กล่าว ผู้ใหญ่บ้านแม่งูดกล่าวว่า นอกจากตนทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านแล้ว ยังรวมกลุ่ม 15 หมู่บ้านในพื้นที่ฮอดและอมก๋อย ตั้งเป็นชมรมกระเหรี่ยงโผล่ง ซึ่งในที่ประชุมของชมรมฯ ได้เคยหารือในเรื่องโครงการผันน้เและมีมติร่วมกันว่าจะคัดค้าน “ผมแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการนี้มาโดยตลอด ในวันที่เขาไปเปิดเวทีรับฟังที่ อ.สบเมย ผมก็ไป และลุกขึ้นชี้แจงว่าพวกเราในอำเภอฮอดไม่เห็นด้วย ทุกวันนี้ยังแทบไม่มีใครเข้ามาชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจ ที่สำคัญคือเอกสารต่างๆ ของทางการ เป็นเอกสารที่เป็นภาษาไทยซึ่งชาวกะเหรี่ยงบ้านๆ อ่านไม่ออก พวกเรารู้สึกหดหู่ใจมากเมื่อได้ยินชื่อโครงการนี้ เพราะเขาไม่เคยเห็นใจชาวบ้านเหนืออ่างเลย พวกเราถูกย้ายตอนสร้างเขื่อนมาครั้งหนึ่งแล้ว จะต้องให้เราเสียสละอีกหรือ พวกเราเป็นชาวกะเหรี่ยงที่อยู่กับป่าและรักษาป่า จะให้เราไปอยู่ที่อื่น เราก็ไม่ไป เราอยากอยู่ที่เดิมบ้านเกิดของเรา” นายวันไชย กล่าว หลังจากนั้นทีมผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบ ได้ลงพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสำรวจแนวอุโมงค์ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า จากการสอบถามขาวบ้านอมก๋อย ส่วนใหญ่ยังไม่เคยรับรู้ว่าจะมีอุโมงค์ผันน้ำสู่เขื่อนภูมิพลผ่าน ทั้งๆ ที่ระยะทาง 64 กิโลเมตรที่ขุดเจาะอุโมงค์ค์เกือบ 90% อยู่ในเขตป่าของอำเภออมก๋อย โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านอูตูม ต.นาเกียน ซึ่งเขียนไว้ในโครงการว่าเป็นเส้นทางอุโมงค์และจุดวางกองหินที่ขุดเจาะ ปรากฏว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสมบูรณ์และมีไร่หมุนเวียนของชาวบ้านกะเหรี่ยงสลับอยู่เป็นหย่อมๆ ทั้งนี้ชาวอมก๋อยได้ช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ไว้อย่างดีจนสามารถรักษาผืนป่าไว้ได้จำนวนมากและในหลายพื้นที่เคยได้รับรับรางวัลจากองค์กรต่างๆ โดยล่าสุดชาวอมก๋อยได้ร่วมกันออกมาต่อต้านการสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินจนสำเร็จ เนื่องจากไม่ต้องการให้มีมลพิษเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีอากาศบริสุทธิ์ นายพิบูลย์ ธุรมลฑล สมาชิกกกลุ่มชาติพันธุ์อมก๋อย กล่าวว่าชาวบ้านยังไม่รู้มาก่อนว่าจะมีอุโมงค์ขนาดใหญ่เจาะทะลุผ่านพื้นที่ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากเพราะตามแผนของโครงการผันน้ำ พื้นที่ที่อุโมงค์จะเจาะทะลุส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าและไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน โดยก่อนหน้านี้ตนเคยดิยินโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลเมื่อหลายปีก่อนและเรื่องได้เงียบหายไปจนกระทั่งทางผู้บริหารเขื่อนภูมิพลได้ชวนผู้นำหมู่บ้านทั้งอบต.และกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไปร่วมประชุม ทำให้เริ่มติดตามข่าวนี้จนได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น และรู้สึกเป็นห่วงในเรื่องผลกระทบเป็นอย่างมากเนื่องจากแนวท่อได้ตัดผ่านไร่หมุนเวียนของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจำนวนมาก “ชาวบ้านไม่รู้ว่าต่อไปเจ้าของวไร่หมุนเวียนที่ถูกแนวอุโมงค์พาดผ่านจะยังทำไร่ต่อไปได้หรือไม่ ในเอกสารที่ทางกรมชลประทานนำมาแจกเมื่อตอนเปิดเวทีบอกว่าจะต้องขุดเจาะและนำหิน-ดิน มาวางไว้ตามหุบเขาในป่า เราไม่รู้ว่ากองหินเหล่านั้นจะมีสารพิษอะไรหรือไม่ แถวนี้เป็นแหล่งต้นน้ำ มีลำห้วยมากมาย หากมีสารพิษเจือปนชาวบ้านจะทำอย่างไร ทุกวันนี้พวกเราต่างใช้ประปาภูเขา” นายพิบูลย์ กล่าว นายพิบูลย์กล่าวว่าปัจจุบันพื้นที่ป่าในอำเภออมก๋อยยังเหลืออยู่มากเพราะชาวบ้านช่วยกันดูแลและได้แบ่งพื้นที่ เช่น เป็นป่าชุมชน ป่าต่างๆ หากโครงการนี้เกิดขึ้นป่าเหล่านี้จะยังเหลืออยู่หรือไม่ ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนเป็นวิถีดั้งเดิมที่ชาวบ้านอยู่กันมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ที่สำคัญคือตอนนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องเลยว่าจะมีโครงการนี้เกิดขึ้นเพราะไม่เคยมีใครมาชี้แจง โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงจำนวนไม่น้อยไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ดังนั้นหากแจกเอกสารเป็นภาษาไทยอย่างเดียวชาวบ้านคงเข้าไม่ถึง “ทุกวันนี้เรามีคุณภาพชีวิตที่เป็นปกติสุขดีอยู่แล้ว เมื่อมีโครงการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเข้ามาพวกเราย่อมรู้สึกเป็นกังวล อย่างกรณีสร้างเหมืองแร่ถ่านหิน เราก็ไม่ทราบกันมาก่อน จนกระทั่ง 5 วันสุดท้ายที่เขาประกาศ เราถึงได้รู้และร่วมกันคัดค้านทั้งอำเภอ โครงการผันน้ำก็เช่นกัน ตอนนี้เรากำลังจะนัดแกนนำหารือกันเป็นการด่วน เอาข้อมูลมาดูเพื่อช่วยกันเผยแพร่ให้ชาวบ้านรับรู้โดยเร็วเพราะเป็นโครงการที่ส่งผลกกระทบกับชาวบ้านเป็นอย่างมาก” นายพิบูลย์ กล่าว ช่วงสุดท้ายทีมข่าวลงพื้นที่จุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่บ้านสบเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จากนั้นนั่งเรือตามลำน้ำแม่ยวมไปดูพื้นที่จุดก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำสูง 68 เมตร ซึ่งตลอดแนวตลิ่งสองข้างเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่โดยเฉพาะต้นสัก ซึ่งหากมีการกั้นแม่น้ำ ป่าเหล่านี้จะต้องถูกน้ำท่วมเพราะบริเวณนี้น้ำจะยกตัวสูงขึ้น นอกจากนี้บริเวณนี้ยังมีน้ำตกเล็กๆและเกาะแก่งอันสวยงามซึ่งจะตกอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำเช่นกัน หากมีการสร้างเขื่อน ซึ่งแม้ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ยินข่าวโครงการผันน้ำมาบ้างแล้ว โดยบางส่วนเคยร่วมเวทีรับฟังความเห็นที่กรมชลประทานจ้างทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวรศึกษาจัดขึ้นแล้วก็ตาม ซึ่งชาวบ้านได้ตั้งคำถามมากมายโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและสถานีสูบน้ำ แต่กลับไม่ได้คำตอบ ทำให้ชาวบ้านต่างพากันคัดค้านโครงการ ขณะเดียวกันจากการสำรวจแม่น้ำยวมยังพบว่ามีบ้านอีกหลายหลังที่อยู่ริมแม่น้ำแต่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่ทางการต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่อยู่ในอีไอเอ ทำให้เจ้าของบ้านต่างรู้สึกวิตกกังวลเพราะไม่รู้จะไปอยู่ที่ใด นายประจวบ ทองวาฤทธิ์ บ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้จุดสร้างสถานีสูบน้ำและปากอุโมงค์ของโครงการผันน้ำกล่าวว่า กรมชลประทานได้มาลงพื้นที่หลายครั้ง ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยรองอธิบดีกรมชลประทานรายหนึ่งได้มาลงพื้นที่แม่น้ำสองสี แต่ไม่ได้คุยกับชาวบ้านแม้ตนพยายามเข้าไปยื่นหนังสือแต่เข้าไม่ถึง “ผมใช้ชีวิตที่นี่ ขออยู่ที่นี่ ชีวิตเรากว่าจะนับถึงสิบในวันนี้ได้ จะให้ถอยไปเริ่มนับหนึ่งใหม่คงไม่ไหว ต้นไม้แต่ละต้นที่ผมปลูกกว่าจะออกดอกออกผล ต้องใช้เวลา ข้อมูลของชาวบ้านอยู่กินอย่างไรเขาไม่เคยมาถาม ข้อมูลผลกระทบไม่ชัดเจน มีแต่ข้อมูลของเขา เราให้ข้อมูลไปเขาคงเอาไปทิ้ง ทุกครั้งที่จัดเวที ตัวแทนของกรมชลประทานเอาแต่พูดๆข้อดี 3-4 ชั่วโมง เหลือเวลาอีกนิดเดียวให้เราพูดตอนท้าย เราฝากข้อมูลไป แต่เขาไม่เคยสนใจ แม่ฮ่องสอนมีแม่น้ำปาย แม่น้ำเงา แม่น้ำยวม คนเข้ามา นักท่องเที่ยวมาเห็นเขาบอกว่าสะอาด เย็น อยากได้เอาไปไว้ในเมือง ทุกวันเรากินน้ำประปาภูเขา เป็นน้ำสะอาด ไหลมาจากป่า ปัญหาคือหากโครงการเกิดขึ้นจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน ปัจจุบันเรื่องที่ดินทำกินก็ขยายไม่ได้ หากขยายก็ถูกยึด”นายประจวบ กล่าว นายประจวบกล่าวว่า ทุกวันนี้ในฤดูน้ำหลาก น้ำในแม่น้ำก็เอ่อท่วมถนนอยู่แล้ว หากกั้นเขื่อนจะไม่ท่วมหมู่บ้านได้อย่างไร เขาบอกว่าปากอุโมงค์สูบน้ำ จะกระทบบ้านเรือนจำนวน 4 หลัง แค่ขอบรั้วที่ติดบ้านตนคือบ้านลุงหม่อง เขาบอกว่าไม่กระทบ ซึ่งจนถึงบัดนี้ ถ้าต้องย้ายเขาก็ยังไม่บอกว่าจะให้ย้ายไปไหน นายธงชัย เลิศพิเชียรไพบูลย์ อายุ 48 ปี ชาวบ้านแม่เงา ซึ่งมีโกดังถั่วเหลืองอยู่ใกล้ปากอุโมงค์ กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยนเรศวร มาให้ข้อมูลและให้เซ็นเอกสาร แต่ตนไม่เซ็น ที่น่ากังวลคือเวลาจะเจาะอุโมงค์ส่งน้ำต้องเอาหินออกมากองข้างบน ฝนตกก็ต้องไหลลงแหล่งน้ำแน่นอน ไม่ใช่กองดินเล็กๆ เขาบอกว่าเขาจะอัดแน่นซึ่งพูดได้ แต่ทำยาก และตนไม่เอา “พวกเราอยู่กับป่ากินกับป่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งอาจจะถูกหลอกว่าจะได้เงิน ปลาจากแม่น้ำเงา เป็นปลาที่ว่ายมาจากแม่น้ำสาละวิน ผ่านแม่น้ำเมย แต่ละปีๆ ก็ว่ายขึ้นมา มาออกลูกวางไข่ ต่อไปถ้าสร้างเขื่อนจะว่ายมาได้อย่างไร”นายธงชัย กล่าว