ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย นอกจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแล้ว ยังมีแรงกระเพื่อมในการกระทบกระทั่งของสองมหาอำนาจ ในบริบททั้งการเมือง การทหาร อีกหลายเรื่องราว ตั้งแต่เรื่องการประท้วงที่ฮ่องกง โดยมีสหรัฐฯให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง การจำกัดบทบาททางการทูต ตอบโต้ซึ่งกันและกัน การให้การสนับสนุนไต้หวันให้เปิดประเด็นการแยกตัวเป็นอิสระ ล่าสุดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ซึ่งก็เกิดขึ้นมาระลอกแล้วระลอกเล่า เริ่มก่อตัวตึงเครียดเพิ่มขึ้นมาอีก เมื่อสหรัฐฯส่งเรือรบ 2 ลำเข้าไปในบริเวณดังกล่าว สหรัฐฯนั้นได้พยายามยืนยันและตอกย้ำในเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนตอนใต้ ในขณะที่จีนก็ยืนยันถึงอธิปไตยเหนือบริเวณดังกล่าวและครอบคลุมไปถึงหมู่เกาะสแปรตลีกับหมู่เกาะพาราเซลในทะเลจีนตอนใต้ ซึ่งในหมู่เกาะสแปรตลี จีนได้ไปสร้างเกาะเทียม และสนามบินขนาดเล็กเอาไว้ พร้อมสถานีวิจัยและอาจจะใช้เป็นสถานีทางทหารอีกด้วย ทั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มีความเห็นขัดแย้งกันเหนือบริเวณน่านน้ำดังกล่าว จึงเกิดการงัดข้อกันหลายครั้งมาแล้ว ล่าสุดสหรัฐฯส่งเรือรบระดับ Independence-Class 2 ลำ เข้าไปในพื้นที่คือเรือรบ Gabrielle Giffords และ USS Montgomery เข้าไปในทะเลจีนใต้ ในขณะเดียวกัน รมต.กระทรวงกลาโหม มาร์ก เอสเปอร์ ก็ประกาศจุดยืนที่จะให้เขตพิพาทนี้เป็นน่านน้ำเสรีในการเดินเรือ Freedom of Navigation Operations (FONOP) ในการรุกทางการเมืองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ให้ข้อสรุปในการสัมภาษณ์สื่อ โดยการเรียกร้องให้ชาติต่างๆที่มีส่วนได้เสียในบริเวณพิพาทนี้ ทั้งเรื่องเขตทับซ้อน หรือการใช้เส้นทางในการเดินเรือ อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ให้ร่วมกันยืนหยัดที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ด้วยการแสดงออกต่อสาธารณะถึงสิทธิอันชอบธรรม และการเน้นความสำคัญหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีน นาย Wei Fenghe ก็ตอบโต้โดยกล่าวว่า นายเอสเปอร์ ควรจะหยุดเล่นงัดข้อ และสร้างความตึงเครียดในบริเวณทะเลจีนตอนใต้เสีย ทั้งนี้นายเฟงได้แสดงท่าทีชัดเจนในการประชุมแบบไม่ออกสาธารณะกับกลุ่มตัวแทนประเทศอาเซียนในกรุงเทพฯ ซึ่งในการประชุมนี้ก็มีตัวแทนที่ได้ยืนสิทธิเหนือบริเวณทะเลดังกล่าว คือ บรูไน ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ร่วมประชุมอยู่ด้วย และกรณีพิพาทก็ยังไม่อาจจะคลี่คลายได้ นอกจากนี้ก็ยังมีอีกบางประเทศที่วิตกกังวลกับการอ้างสิทธิของจีนในทะเลจีนใต้ เพราะต้องใช้เดินเรือผ่านในการขนส่งสินค้าและน้ำมันนั่นคือ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น แม้ว่าจีนจะประกาศว่าจะไม่ทำการปิดกั้นเส้นทางเดินเรือในเชิงพาณิชย์ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจคลายกังวลของประเทศเหล่านั้นได้ ที่ผ่านมาสหรัฐฯได้เพิ่มแรงกดดันด้วยการเคลื่อนย้ายเรือรบผ่านเข้าออกในบริเวณนี้มากขึ้นเป็นลำดับ และยังชักชวนสหราชอาณาจักรออสเตรเลีย และญี่ปุ่นให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการควบคุมพื้นที่ มิใยว่าจะได้รับการประท้วงจากจีนอย่างรุนแรงเท่าใดก็ตาม โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีมานี้ ในอีกด้านหนึ่งการเข้ามาขยายการปฏิบัติการในพื้นที่ทะเลจีนใต้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิคของสหรัฐฯ และสหรัฐฯคงจะไม่ยอมถอยง่ายๆ แม้จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการกระทบกระทั่งกับจีนก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่าในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ กิจกรรมที่เรียกว่า “เสรีภาพของการเดินเรือ” (FONOP) ในทะเลจีนใต้มีความคึกคักมากกว่าสมัยโอบามาอย่างมาก เพียงแค่ 3 ปี มีกิจกรรมเคลื่อนย้ายกองเรือรบผ่านบริเวณนี้มากกว่าสมัยโอบามา 8 ปี อย่างไรก็ตามมันก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขยายแสนยานุภาพทางทะเลของสหรัฐฯ ที่จะคงความเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ตามแนวคิดทฤษฎีภูมิรัฐศาสตร์ยุคใหม่ ที่จะสร้างแสนยานุภาพทางทะเลเพื่อกดดันกองกำลังทางบก จีนเองก็ตระหนักในความเป็นรองของแสนยานุภาพทางทะเลต่อสหรัฐฯ แม้จะพยายามเพิ่มขีดความสามารถด้วยการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินเพิ่มอีก 1 ลำ และเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อีก 1-2 ลำก็ตาม ในขณะเดียวกันสหรัฐฯก็กำลังดำเนินโครงการที่จะจัดสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อีก 9 ลำ นอกจากนี้ก็พยายามขยายฐานทัพไปรอบโลกโดยตั้งเป้าที่จะส่งทหารไประจำการทั้งหมด 200,000 คนใน 177 ประเทศทั่วโลก ส่วนด้านจีนก็ใช้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถมหนึ่งเส้นทางสร้างสรรค์ Belt And Road Initiative คือ การขยายการลงทุนร่วมกับประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายที่มีศูนย์กลางเข้าสู่จีน ซึ่งตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว แม้ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ทางทหาร แต่ก็สามารถใช้ในการสนับสนุนการดำเนินการทางทหารได้หากเกิดสงคราม ปรากฎการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้นั้น นับวันจะชัดเจนมากขึ้นว่าเป็นการท้าทายของกำลังทางทะเลระหว่างสหรัฐฯกับจีน เช่น วันที่ 17 พฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมาจีนส่งเรือบรรทุกเครื่องบินแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน และ ปรากฏในรายงานการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน นอกจากนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้การที่สหรัฐฯส่งเรือบรรทุกเครื่องบินแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2019 แม้ว่าจีนจะอ้างว่าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปเพื่องานวิจัยและเป็นการปฏิบัติงานตามปกติของภารกิจกองทัพเรือจีนก็ตาม แต่ผู้สันทัดกรณีทางการทหารมองว่ามันเป็นการลองกำลังกันระหว่างสองมหาอำนาจ สำหรับประเทศไทยแม้เราจะมิได้อ้างสิทธิในเขตทะเลจีนตอนใต้ และหมู่เกาะสแปรตลีก็ตาม แต่ความตึงเครียดในภูมิภาคนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแน่นอน และการเพิ่มแสนยานุภาพทางทะเลของไทยก็ยิ่งต้องมีความระมัดระวังในการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้การขยายความร่วมมือทางทหารกับมหาอำนาจก็เป็นความละเอียดอ่อนอีกด้านหนึ่งที่เราต้องรอบคอบรัดกุมเป็นพิเศษ