รมว.คลัง เผย S&P ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือเศรษฐกิจไทยดีขึ้น Stable เป็น Positive จากภาคการคลังแกร่งหนี้สาธารณะต่ำ-สภาพคล่องสูง-นโยบายการเงินการคลังเหมาะสม-มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งหนุนเพิ่มความเชื่อมั่น แต่ยังต้องติดตามผลกระทบสงครามการค้า นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.62 บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้มีการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable)เป็นเชิงบวก (Positive) และยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ และระยะสั้นที่ A-2 รวมทั้งคงอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินบาทระยะยาวที่ A- และระยะสั้นที่ A-2 ทั้งนี้มีปัจจัยด้านบวกของประเทศไทยมาจาก 1.ภาคการคลังที่แข็งแกร่งและระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำ 2.ฐานะการเงินระหว่างประเทศและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง (Solid External Balance Sheet and Liquidity) 3.การดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา 4.การมียุทธศาสตร์ชาติเป็นสิ่งที่ดี รวมทั้งการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่น่าจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดี มีเสถียรภาพทางการเมือง (Political Stability)ที่น่าจะส่งผลดีกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ (Economic Reform) และการบริหารงาน (Public Administration) เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) อย่างไรก็ตามในระยะต่อจากนี้ไป บริษัท S&P ประเมินว่า ควรต้องติดตามผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่มีต่อภาคการส่งออกของไทย โดยในช่วงที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำต่าง ๆ ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อเดือนก.ค.62 บริษัท Fitch Ratings (Fitch) และบริษัท Moody's Investors Service (Moody’s) ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงบวก (Positive) และยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับ BBB+ และ Baa1 ตามลำดับ และต่อมาเมื่อเดือนต.ค.62 บริษัท Rating and Investment Information,Inc.(R&I)ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยดีขึ้นจากระดับ BBB+ มาเป็น A- สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้การปรับมุมมองความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยของสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำต่าง ๆ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP)ต่อไป เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคต