สถิติความรุนแรงในโรงพยาบาลรัฐ ที่สำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2555-2562 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในโรงพยาบาล ถึง 51 เหตุการณ์ด้วยกัน โดยมีทั้งทะเลาะวิวาท ทำร้ายเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำลายทรัพย์สิน ก่อความไม่สงบ และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เสียชีวิต 3 ราย โดยจากผลสำรวจพบผู้ที่ต้องเผชิญความรุนแรงมากที่สุด คือ คุณหมอ กรณีล่าสุด คนไข้มือกรรไกร จะทำร้ายหมอด้วยความไม่พอใจ ต้องรอตรวจนาน... ทั้งนี้ มีประสบการณ์ตรงจากคุณหมอตัวจริง ซึ่งได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “เรื่องเล่าหมอชายแดน” โดยระบุ “เชื่อว่าบุคลากรในสายวิชาชีพนี้เคยได้พบเจอกับความรุนแรง คุกคาม (Violence) อย่างนี้มาแล้วทั้งนั้น เคยมีพยาบาลทางภาคอีสานเสียชีวิตโดยถูกยิงที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลเราก็มีผู้ช่วยเหลือคนไข้ถูกตบ ฉันก็เคยครั้งหนึ่งตอนที่ไปเรียนที่เชียงใหม่ ตอนนั้นสามีคนไข้เป็นชาวต่างชาติเสียใจมากที่คนไข้เสียชีวิตโดยที่เขาไม่คาดคิด วินาทีที่สติแตกเขาก็ปรี่เข้ามาหาหมอเหมือนจะชกแต่ก็ไม่ได้ทำ ขู่ตะคอกเสียงดังมากหันไปทำลายข้าวของ เสาน้ำเกลือ ล้อน้ำเกลือล้มระเนระนาด ..ตอนนั้นฉันคิดว่าถ้าเขามีปืนในกระเป๋า ด้วยระดับโทสะขนาดนี้คงชักออกมายิง..ฉันคงจะซี้แหงแก๋ โชคดีที่เรื่องมันจบลงแค่นั้น หมอ--ก็คือคน คนไข้และญาติ--ก็คือคน เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่บีบเค้น หรือไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ก็ย่อมแสดงพฤติกรรมด้านมืดออกมา โอกาสการปะทะกันของคนเกิดขึ้นได้ทุกที่ทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล ดังนั้น พี่ก็อยากฝากไว้ว่า..เราเกิดเป็นคน ต้องมีทักษะของความเป็นคน การระแวดระวังภัย ป้องกันภัยให้กับตัวเราเองก็เป็นอันหนึ่งที่สำคัญ วันนี้คนไข้คนนั้นอาจจะไปนอนในคุกตามที่ใครอยากให้เป็น..แต่ถ้าเราไม่ป้องกันในคราวต่อไป violenceก็จะเกิดไม่สิ้นสุด” พร้อมกับคุณหมอมีคำแนะนำในการป้องกันให้กับคุณหมอน้องใหม่ว่า หมอต้องประเมินผู้ป่วยและญาติว่าคนไหนมีแนวโน้มจะก่อ violence แล้ววางแผนเข้าจัดการอย่างละม่อม รวมถึงคนไข้และญาติที่มีอาการทางจิตเวชและใช้สารเสพติด, เลือกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เสี่ยง เช่น ตอนราวน์ควรมีพยาบาลหรือทีมตามราวน์ ในห้องตรวจก็ต้องมีผู้ช่วยเหลือคนไข้อยู่เป็นเพื่อน จัดช่วงเวลาทำงานให้ปลอดภัย เช่น ราวน์ภาคเช้า กำหนดให้ญาติเข้าเยี่ยมเป็นเวลาไม่ใช่ให้อยู่สะเปะสะปะ, จัดวอร์ดให้ปลอดภัย กว้างขวาง ไม่มีมุมอับ, เก็บของมีคม หรืออุปกรณ์ที่เป็นอันตราย, มีระบบความปลอดภัยในโรงพยาบาลเช่น กริ่งเรียกยาม จัดให้มีแผนกรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ ออกกำลังกาย เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฝึกทักษะป้องกันตัว..เอาไว้ใช้ในสถานการณ์อื่นๆด้วย, ฝึกทักษะใช้ภาษาในการสื่อสารให้มาก ฝึกควบคุมอารมณ์ และฝึกทักษะไกล่เกลี่ย “หากป้องกันเต็มที่แล้วยังเกิดคงต้องโทษดวงซวยของตัวเองจริงๆ ซึ่งเราก็สามารถซวยได้ตลอดเหมือนกัน ตอนนี้ฝั่งคนไข้ก็ bully หมอ ฝั่งหมอก็ bully คนไข้ บางคนก็บอกว่าหมอมีน้อยใช้สอยประหยัด..มีน้อยก็อาจจะเท่ากับสำคัญก็ได้ คนไข้ก็ไม่ควรมาทำกับหมอแบบนั้น บ้างก็ว่า..ก็หมอมาทำหน้าที่ให้ดีก่อนสิ เหมือนปลาวาฬตายจากการกินพลาสติก ก็ไม่รู้ทำไง ปลาวาฬก็สำคัญเพราะมีน้อย แต่คนก็ยังจำเป็นต้องใช้พลาสติก..มีความเคลื่อนไหวแต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้อยู่ดี ในความเห็นของฉันนะ..เราเป็นหมอก็ต้องปฏิบัติหน้าที่กันเต็มที่ต่อไป คนไข้บางคนอาจจะไม่ดี หมอบางคนยังไม่ดีเลยแต่ก็ไม่ใช่ทุกคน คนไข้ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา เป็นความสัมพันธ์ของทั้งผู้ให้ผู้รับที่บริสุทธิ์ สำคัญคือเราก็ต้องระวังตัวในการการใช้ชีวิตรอบด้านด้วยเพราะอย่าลืมว่าเราก็เป็นคนเหมือนคนอื่นด้วย...”