"เทพไท" ชี้ 3 เหตุผลแก้รธน.ขาดการมีส่วมร่วมปชช.-ไม่ได้แก้ทุจริต-ที่มาส.ว. ยันแก้ม.256มาตราเดียว ซัดเปิดช่องซื้อเสียงมากสุด เหน็บซื้อหนึ่งได้สาม จากนี้นนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เสนอญัตติขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ อภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว ว่าการเสนอญัตติในครั้งนี้ด้วยเหตุผลกคือ 1.เป็นเงื่อนไข ของพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าร่วมรัฐบาล ของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา และเป็นนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 13 ของรัฐบาลชุดนี้ด้วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้สำเร็จโดยเร็วเพราะเป็นนโยบายเร่งด่วน ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งปี ถือว่าเป็นสัญญาประชาคมที่ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ 2.เป็นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 60 โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น ได้ประกาศอย่างชัดเจนด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1.เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่แต่งตั้งโดยคสช. ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน นายเทพไท กล่าวว่า 2.รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างแท้จริง เป็นเพียงการสร้างวาทะกรรมหลอกลวงภาพลวงตา ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง การทุจริตก็ยังเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด และเปิดโอกาสให้มีการทุจริตเพิ่มมากขึ้นโดยการยกเลิกกระบวนการการถอดถอนผู้กระทำผิดคงเหลือแต่กลไกของ ปปช.และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น รวมถึงการเพิ่มเงื่อนไขให้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วัน 3.ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา 250 คนมาจากการแต่งตั้งของคสช. และมีข้าราชการประจำที่มีตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของฝ่ายการเมือง สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีและควบคุมการทำงานของคณะรัฐมนตรีได้ คำสั่ง คสช. โดยพลเอกประยุทธ์แต่งตั้ง ส.ว.250คน และ ส.ว.250 คนโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ผลัดกันเกาหลัง นายเทพไท กล่าวอีกว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพียงมาตราเดียว เพราะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆได้ ซึ่งในมาตรา 256 ได้มีการวางเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยากมากจนไม่สามารถแก้ไขได้ โดยมีการวางล็อกไว้3ชั้น คือ ล็อคที่1ต้องให้ ส.ว.จำนวนหนึ่งในสามหรือ 84 คนเห็นชอบลงคะแนนสนับสนุนในวาระที่หนึ่ง และวาระที่สามด้วย ล็อคที่2 มีศาลรัฐธรรมนูญ คอยพิจารณาตีความความถูกต้องของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเสร็จแล้ว ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับเดิมหรือไม่ ล็อคที่ 3 เรื่องการลงประชามติ ซึ่งต้องออก พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องทำประชามติสอบถามประชามติ ว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งรายละเอียดของหมวด15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เป็นไปได้ยากมากนอกจากการปฏิวัติรัฐประหารเท่านั้น "การอ้างเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านการทำประชามติจากคนไทยทั้งประเทศและมีผู้เห็นชอบจำนวน 16,820,402คน หรือ 61.35%และไม่เห็นด้วย 10,598,037คนหรือ 38.65% ซึ่งในจำนวนผู้เห็นด้วยนั้นน่าจะมาจาก 2ส่วน คือกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างแท้จริง กับกลุ่มคนที่อยากเลือกตั้ง เพราะกลัวว่ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป ส่วนกรณีที่มีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวน 38.65% เป็นการทำประชามติในสถานการณ์การเมืองที่มีการปกครองโดยรัฐบาลคสช. มีมาตรา 44 บังคับใช้ บางพื้นที่ มีกฎอัยการศึก และยังมีกระบวนการขัดขวางการรณรงค์ของกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทุกรูปแบบ"นายเทพไท กล่าว นายเทพไท กล่าวอีกว่า อยากจะตั้งข้อสังเกตเรื่องสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อยู่ที่ประเด็นการเข้าสู่อำนาจรัฐ โดยการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะต้อง ศึกษาแก้ไขใน2ส่วนนี้ คือการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และการเลือกตั้งแบบ จัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งเป็นระบบที่ส่งเสริมให้มีการซื้อเสียงมากที่สุด ซื้อหนึ่งได้สาม หรือที่เรียกว่า ทรี อิน วัน คือได้ส.ส.ระบบเขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะฉันนั้นเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษาปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่บังคับใช้มาแล้วเป็นเวลา2ปีเศษ พบว่ามีข้อบกพร่องจำนวนมากต้องหาหนทางปรับปรุงแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล