นอกจากได้ชื่อว่าเป็น อภิมหาโครงการ เมกะโปรเจ็กต์ แห่งยุคแล้ว ก็ยังถูกยกให้อาวุธสำคัญระดับนำวิถี เพื่อเบิกทางนำร่องสู่แผนการอื่นๆ ต่อไปอย่างได้ผลชะงัด สำหรับ “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” ของพญามังกร จีนแผ่นดินใหญ่ ที่กำลังสำแดงเดชในภูมิภาคต่างๆ น้อยใหญ่ ณ เวลานี้ ราวกับพลังภายในที่แผ่ซ่านจากพญามังกร ในปฏิบัติการรุกคืบขยายอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่สู่ภูมิภาคทั้งหลายก็ไม่ปาน ล่าสุด พญามังกรก็ได้ปล่อยของ ส่งคลื่นพลังสายไหมข้างต้น ณ บนเวทีซัมมิต “การประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงแห่งภูมิภาคตะวันออกกลาง” ซึ่งมีขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตัวแทนระดับสูงรวมแล้วกว่า 200 คน จากบรรดาประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง และจีนแผ่นดินใหญ่ เข้าร่วมหารือกันอย่างเข้มข้น โดยพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ใช้อภิมหาโครงการที่ว่า นำวิถีไปสู่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง อันจะนำไปสู่ “ความคิดใหม่ๆ (New Idea)” ให้เหล่าบรรดาชาติในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้พึงตระหนักว่า ถึงคราวที่จะต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ในการดำเนินยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ แบบแทบจะยกเครื่องกันใหม่ทั้งหมดเลยทีเดียว แน่นอนว่า การหารือกันในแนวแบบ “รื้อ-สร้าง” เพื่อให้บังเกิด “สิ่งใหม่” ก็ย่อมต้องหยิบยกเชิงตำหนิวิจารณ์ต่อสิ่งเก่าๆ ขึ้นมาถกกันในวงประชุม ซึ่งสิ่งเก่าๆ ที่ว่า ก็หาใช่ใครอื่นไกล แต่เป็น “สหรัฐอเมริกา” เจ้าของฉายา “พญาอินทรี” นั่นเอง ข้อวิจารณที่หยิบยกขึ้นถกในที่ประชุม ก็ระบุว่า สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อกลุ่มประเทศในตะวันออกอย่างไร้ความเที่ยงธรรม โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้แสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มประเทศดังกล่าว แบบแทบจะฉกฉวยเอาข้างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการแสวงผลประโยชน์จากพลังงานน้ำมัน อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติขนาดแถวหน้าของภูมิภาคแห่งนั้น การถูกใช้ให้เป็นตลาดค้าอาวุธสงคราม จนกลายเป็นตลาดอาวุธที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ในฐานะที่ประเทศในภูมิภาคแห่งนี้เป็นลูกค้ารายใหญ่ หรือแม้กระทั่งการดำเนินการอย่างเอนเอียง มีอคติ อย่าง กรณีอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เป็นอาทิ แต่ที่นับว่า สร้างความคับแค้นใจให้แก่หลายๆ ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่คณะผู้ปกครองประเทศเป็นมุสลิมนิกายซุนหนี่ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย และก็ถูกหยิบยกขึ้นไปถกในเวทีดังกล่าวด้วยนั้นก็คือ การทำสงครามอิรัก หรือสงครามอ่าวครั้งที่ 2 ในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2554 อันนำไปสู่การโค่นล้มจอมเผด็จการของอิรักอย่าง “ซัดดัม ฮุสเซน” ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเขาได้ชื่อว่า เป็นผู้นำจอมเผด็จการของอิรัก แต่ในสายตาของบรรดาผู้นำประเทศในตะวันออกกลางที่เป็นมุสลิมนิกายซุนหนี่แล้ว “ซัดดัม ฮุสเซน” ก็คือ หนึ่งในผู้นำที่ต่อต้านมุสลิมนิกายชีอะฮ์ระดับแถวหน้าเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการต่อต้าน “อิหร่าน” พี่เบิ้มใหญ่ของมุสลิมชีอะฮ์แล้ว ต่างก็ยกย่องให้ “ซัดดัม ฮุสเซน” คือ เบอร์หนึ่ง แต่ปรากฏว่า กลับถูกกองทัพสหรัฐฯ โค่นล้มลงจากอำนาจไปอย่างอนาถ ก่อนตามมาด้วย “สงครามกลางเมืองซีเรีย” เพื่อหมายโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งนอกจากเกิดความระส่ำระสายทั้งในซีเรียและตะวันออกกลางแล้ว ก็ยังส่งผลร้ายก่อให้เกิดขบวนการก่อการร้าย สะท้านโลก นั่นคือ กลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส หรือไอซิส อีกต่างหากด้วย มิใช่แต่เพียงการแทรกแซงทางการทหารเพื่อขยายอิทธิพลเท่านั้น ทว่า สหรัฐฯ หลายครั้งหลายคราวก็มีปฏิบัติการในลักษณะทำตามอำเภอใจ ไม่เกรงใจต่อชาติพันธมิตร เช่นล่าสุด เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมามีกรณีการถอนทหารออกจากซีเรีย จำนวนนับพันนาย ก่อนข้ามพรมแดนเข้าไปปักหลักในอิรัก โดยที่ไม่ขออนุมัติบอกกล่าวต่อรัฐบาลแบกแดดเลยแม้แต่น้อย ทั้งหมดทั้งปวงข้างต้น ก็ส่งผลให้บรรดาประเทศในตะวันออกกลา ต้องมหาอำนาจฟากอื่นๆ เข้ามาถ่วงดุล ไล่ไปตั้งแต่ “รัสเซีย” พญาหมี ซึ่งแม้รัฐบาลมอสโก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จะส่งสัญญาณท่าทีว่าจะเป็นนายหน้าผู้มาเสริมสร้างสันติภาพคนใหม่ แต่ก็ยังไม่วายที่จะมีบทบู้ผ่านการสู้รบเชิงสงคราม ยกตัวอย่างใน ซีเรีย เป็นอาทิ ก่อนปรากฏโฉมของพญามังกรที่ทะยานฟ้าขึ้นมาในฐานะเสี่ยใหญ่ เงินหนา ที่มาพร้อมกับอภิมหาโครงการต่างๆ อย่าง เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นต้น ตลอดจนการระดมเม็ดเงินลงทุนจำนวนรวมแล้วนับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ใน 15 ประเทศของภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งแม้แต่ “ซาอุดีอาระเบีย” ชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ก็ยังสนใจร่วมเป็นภาคีกับจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย หรือแม้กระทั่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี ก็กลายสถานภาพปัจจุบันป็นหุ้นส่วนคู่ค้ารายใหญ่ของจีนแผ่นดินใหญ่ในตะวันออกกลางไปแล้ว โดยการขยายตัวทางอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งในตะวันออกกลาง ก็ยังทำให้ประเลขาธิการ ซึ่งเป็นบิ๊กบอสใหญ่ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ก็ยังเอ่ยปากด้วยความเป็นห่วงในการประชุมสุดยอดนาโตประจำปีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา