เสียเพิ่มอีก! ขยายเวลาก่อสร้างรัฐสภาครั้งที่ 4 “วัชระ” เผย ต้องเสียค่าปรับให้ผู้รับเหมา พร้อมแบกค่าใช้จ่ายเองอีกวันละ 1.2 ล้าน เผย เลขาสภาฯ เซ็นลงนามขยายก่อสร้างครั้งที่ 4 ไม่ฟังเสียงค้านสำนักงบฯ วันที่ 10 ธ.ค.62 นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงชื่อขยายสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ครั้งที่ 4 ให้แก่ผู้รับเหมาแล้วจำนวน 382 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2562 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 2562 โดยอ้างเหตุความล่าช้าในการจัดหาผู้รับจ้างรายอื่น คือ 1.งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) 2.งานสาธารณูปการ งานประกอบอาคารและภายนอกอาคาร ทั้งๆที่มีข้อสังเกตของกลุ่มงานพัสดุ สำนักการคลังและงบประมาณ ว่าอาจขัดต่อสัญญาได้และเสนอให้สำนักกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอความเห็นในเรื่องนี้ แต่นายสรศักดิ์ก็รวบรัดรีบเซ็นอนุมัติในวันที่ 4 ธ.ค.ให้บริษัทผู้รับเหมา นายวัชระ กล่าวอีกว่า สัญญาก่อสร้างลงวันที่ 30 เม.ย. 2556 ระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน ถ้าสร้างไม่เสร็จจะเสียค่าปรับให้ทางราชการวันละ 12,280,000 บาท โดยมีการขยายครั้งที่ 1 387 วัน ขยายครั้งที่ 2 421 วัน และขยายครั้งที่ 3 674 วัน เป็นฝีมือของนายสรศักดิ์ล้วนๆ จึงอยากถามว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ทั้งนี้ มีการขยายเวลาในยุคนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือยุคคสช. มากถึงจำนวน 1,482 วันและขยายครั้งที่ 4 382 วันในยุคนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมขยายระยะเวลาทั้งสิ้น 1,864 วัน เมื่อบวกกับสัญญาการก่อสร้างเดิม 900 วัน เท่ากับใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 2,764 วัน หรือเกือบ 8 ปีนั่นเอง "การขยายเวลาก่อสร้างแต่ละวัน สภาต้องจ่ายเงินภาษีของพี่น้องประชาชนวันละ ประมาณ 2 ล้านบาท เมื่อขยายเวลาทั้งสิ้น 1,864 วัน สภาก็ต้องจ่ายเงินโดยไม่ควรต้องจ่ายกว่า 3,728 ล้านบาท ซึ่งในความจริง ตามสัญญาหากก่อสร้างไม่เสร็จในระยะเวลาที่กำหนด 900 วัน บริษัทผู้รับเหมาต้องจ่ายค่าปรับให้สภาวันละ 12,280,000 บาท เมื่อคูณจำนวนวันที่ล่าช้าในการขยายเวลา 3 ครั้งในยุคคสช. จำนวน 1,482 วัน บริษัทผู้รับเหมาต้องจ่ายเงินค่าปรับให้กับประเทศชาติเป็นเงินกว่า 18,000 ล้านบาท" นายวัชระ กล่าว นายวัชระ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ปรากฎหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่า 1.ตั้งแต่การขยายเวลาครั้งที่ 3 จำนวน 674 วัน ระหว่างวันที่ 10 ก. พ. 2561 ถึง 15 ธ.ค.2562 นายสรศักดิ์อ้างเหตุจากความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ของโรงเรียนโยธินบูรณะแต่ปรากฏว่าขัดแย้งกับหนังสือของนายสรศักดิ์เองที่ยืนยันว่าได้ส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดให้บริษัทผู้รับเหมาแล้วตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2559 2.นายสรศักดิ์ เพียรเวช ก็เป็นประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างที่ขยายเวลาก่อสร้างให้บริษัทผู้รับเหมาครั้งแรก 387 วัน จากเดิมคณะกรรมการตรวจการจ้างในยุคนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นให้ขยายเพียง 287 วันเมื่อเสนอให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.แล้วกลับถูกม.44 เด้งไปนั่งตบยุงในทำเนียบ 3.บริษัทผู้รับเหมามีหนังสือเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานสภาผู้แทนราษฎรแล้วกว่า 1,600 ล้านบาท ทั้งๆที่สภาควรจะเป็นฝ่ายปรับบริษัทผู้รับเหมา นายวัชระ กล่าวด้วยว่า การขยายเวลาการก่อสร้างเป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัทผู้รับเหมาโดยมิชอบหรือไม่ ทำให้ประเทศชาติต้องเสียเงินภาษีอากรของประชาชนจำนวนมหาศาล ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดในวันต่อต้านการคอร์รัปชั่นสากลว่า คนทุจริตคือคนไม่ดี เก่งหาช่องโหว่กฎหมายทำจนได้ จึงอยากถามพล.อ.ประยุทธ์ว่าจะสนใจแก้ปัญหาการทุจริตการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่บ้างหรือไม่