รัฐบาลเดินหน้านโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ที่มุ่งเน้นการพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเพื่อให้มีการบริหารจัดการที่มีศักยภาพ การกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมวัฒนธรรมให้คงอยู่และการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น อพท.6 จึงมีนโยบายพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม เพื่อยกระดับของชุมชน และดึงศักยภาพของชุมชน เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างศักยภาพเพื่อให้เป็นทั้งบทบาทของผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว ควบคู่กับการดูแลรักษา และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเอง เกิดความสมดุลระหว่างภูมิปัญญา ท้องถิ่น และความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นของตนเอง โดย นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า จากความนิยมของนักท่องเที่ยว ที่สนใจเดินทางมาเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะ พื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ และพัฒนาเมืองเก่าน่าน และพื้นที่ชุมชนโดยรอบ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลในเวียง ตำบลดู่ใต้ ตำบลนาซาว ตำบลบ่อสวก ของพื้นที่อำเภอเมืองน่าน และตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม พระพุทธศาสนา ที่สำคัญของจังหวัดน่าน การหลั่งไหลและถาโถมด้วยกระแสการท่องเที่ยว ได้ก่อให้เกิดผลกระทบ ทั้งด้านทางบวก และลบ ต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนเพิ่มมากขึ้น ทั้งปัญหาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ ราคาค่าเครื่องอุปโภคและบริโภคที่แพงขึ้น ปัญหาขยะและน้ำเสีย ปัญหานักท่องเที่ยวไม่เคารพเมือง ซึ่งหากชุมชนไม่มีแผนและการบริหารจัดการที่ดี ขาดมาตรการควบคุม การรุกล้ำทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมจากภายนอก ย่อมก่อให้เกิดการทำลายคุณค่าและบรรยากาศเมืองเก่าที่มีชีวิตของน่าน ซึ่งจะส่งผลให้ความนิยมของนักท่องเที่ยว ที่มีต่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านลดลงไป ดังนั้นการศึกษาความพร้อมของคนในชุมชนกับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่นั้น จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยหาแนวทางให้แก่คนในชุมชนรับมือกับการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวในอนาคต เป็นการส่งเสริมให้เป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างแท้จริงและเป็นการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนให้คงอยู่ต่อไป จึงได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยพะเยา ดึงนักวิชาการ และภาคีเครือข่าย หน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “น่าน พอดี มีสุข” ภายใต้โครงการศึกษาความสามารถต่อการรองรับการท่องเที่ยว (Carrying Capacity) ในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เพื่อศึกษาความสามารถต่อการรองรับการท่องเที่ยว และให้ชุมชนได้รู้ถึงขีดจำกัด และขีดความสามารถในการรองรับการพัฒนา และส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและชุมชนจะรองรับได้ การกำหนดเขตการจัดการพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบในการนำไปใช้บริหารจัดการ พื้นที่แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงแนวทางการพัฒนาการให้บริการนักท่องเที่ยวให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นใน 7 ด้าน ได้แก่ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชน,ด้านกายภาพ,ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก,ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม,ด้านสังคม วัฒนธรรม ชุมชน ,ด้านจิตวิทยา และด้านเศรษฐกิจ เพื่อจะนำไปสู่การทำน่านให้พอดี เพราะการท่องเที่ยวที่มีความพอดีนั้น จะนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืน ทั้งของชุมชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ความพอดีเป็นสิ่งสำคัญ เป็นความสวยงาม เป็นความสมบูรณ์ และเป็นความยั่งยืน