“จุรินทร์”เตรียมแผนงานสำคัญปี 63 เดินหน้าประกันรายได้เกษตรกร-รุกตลาดส่งออก-สานต่อเจรจา FTA พร้อมชง ครม. 11 ธ.ค.62 กำหนดมาตรการเสริมรายได้ปลูกข้าว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำหนดแผนงานในปี 2563 โดยเน้น 3 เรื่องได้แก่ 1.โครงการประกันรายได้เกษตรกร 2.เร่งรัดการส่งออกในปี 2563 และ 3.เร่งรัดการทำเอฟทีเอกับประเทศเป้าหมายคงค้างและเป้าหมายใหม่ ทั้งนี้โครงการประกันรายได้เกษตรกรจะดำเนินต่อเนื่องจากปี 2562 ซึ่งได้จัดทำประกันรายได้ในพืช 5 ชนิดคือ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มจ่ายเงินส่วนต่างเงินประกันรายได้แล้วในพืช 4 ชนิด รวมวงเงินประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยในวันที่ 11 ธ.ค.นี้จะนำหลักเกณฑ์การประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเริ่มจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรกวันที่ 20 ธ.ค.62 สำหรับการจ่ายประกันรายได้ข้าวเปลือกในงวดต่อไป(งวด5) ในส่วนของข้าวเปลือกหอมมะลิจะได้ส่วนต่างตันละกว่า 500 บาท ข้าวเปลือกหอมนอกพื้นที่จะได้ส่วนต่างตันละกว่า 400 บาท ขณะนี้ยางพาราติดความล่าช้าในเรื่องการตรวจสอบ ตอนนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ปรับวิธีการตรวจสอบใหม่ โดยให้เจ้าของสวนแจ้งชนิดยางและจำนวนพื้นที่โดยมีกำนันหมู่บ้านเป็นผู้รับรองแล้วส่งให้กยท.ประสานธนาคารเพพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)จ่ายเงินให้เกษตรกรต่อไป “ปีหน้าประกันรายได้เกษตรกรจะทำคู่ขนานกับมาตรการเสริม เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวที่ยังมีผลผลิตรอการเก็บเกี่ยว 30% และให้เตรียมมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้า ซึ่งขณะนี้พบว่ามีข้าวโพดลักลอบนำเข้าตามชายแดนมากซึ่งได้ประสานให้ฝ่ายความมั่นคงดูแลสกัดการลักลอบ สำหรับมาตรการขนานรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกจะนำเสนอครม.ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้เป็นการช่วยเหลือต้นทุนเกษตรกรและผู้ค้าเพื่อชะลอการขายตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าว(นบข.)เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.62 2.เร่งรัดการส่งออกในปี 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำตัวเลขเป้าหมายในปี 2563 คาดว่าจะชัดเจนในปลายปีนี้ ส่วนกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกได้เตรียมจัดคณะตัวแทนรัฐและเอกชนไปเปิดตลาดเป้าหมาย 16 ประเทศคือ อินเดีย ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ ฮ่องกง จีน เวียดนาม ฝรั่งเศส อังกฤษ ตะวันออกกลาง รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ติมอร์-เลสเต เกาหลีใต้ บังคลาเทศ มัลดีฟส์ และกัมพูชา 3. เร่งรัดการทำเอฟทีเอกับประเทศเป้าหมายคงค้างและเป้าหมายใหม่อาทิ ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ไทย-ศรีลังกา ไทย-แอฟริกาใต้ ไทย-แอฟต้า ทั้งนี้ได้เสริมให้ทำเอฟทีเอรายมณฑลหรือรายรัฐด้วยในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และประชากรมาก โดยเฉพาะจีน อินเดียให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศไปศึกษาว่าทำการศึกษาเปิดเสรีแบบใดได้บ้าง