เปิดแผนจัดการสารเคมีแห่งชาติ เลิกใช้ 3 สารพิษ ปี 63 “อนุทิน” ขึ้นนั่งคุมบอร์ดสารเคมี เคาะเองคานอำนาจคณะกรรมการวัตถุอัยตราย เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการจัดการสารเคมีแห่งชาติ ซึ่งมีรมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ โดยสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือแต่งตั้งดังกล่าวให้กับหน่วยงานรับปฏิบัติ ประกอบด้วยแผนฉบับที่ 1(พ.ศ. 2540-2544) ต่อมา พ.ศ. 2554 มีแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2549) ซึ่ง แผนแม่บททั้ง 2ฉบับ เป็นความพยายามที่จะบริหารจัดการสารเคมีทุกชนิดที่หลายหน่วยงานกำกับดูแลรับผิดชอบให้เป็นเอกภาพ และในปี 2550 มีแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2550-2554) ซึ่งมีทิศทางที่ต่อเนื่องจากแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 และมีการบูรณาการแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การดำเนินงานระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี เพื่อให้มีนโยบายเดียวในการบริหารจัดการสารเคมีของประเทศในการป้องกันอันตราย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีต่อสุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อมของประชาชน สำหรับวัตถุประสงค์ที่สำคัญของแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 คือ ต้องการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ก่อให้เกิดการจัดการสารเคมีของประเทศที่เป็นระบบและมีทิศทางเดียวกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย สังคมที่ปลอดภัยจากอันตรายด้านสารเคมี สู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับสากล รวมทั้งเป้าหมายของการจัดการสารเคมีของโลก คือ ลดการผลิต และใช้สารเคมีในทางที่จะนำไปสู่การลดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมภายในปี 2563 ในส่วนการขับเคลื่อนแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านสารเคมีแห่งชาติ ดำเนินการโดย คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยความปลอดภัยด้านสารเคมี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน เมื่อพัฒนามาเป็น แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ คณะกรรมการจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการยังคงเดิม คือประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือองค์กรพัฒนาเอกชน ภาควิชาการและเครือข่ายวิชาชีพ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ในส่วนระยะเวลาของแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ.2550-2554) ใกล้จะสิ้นสุด ได้มีการเสนอแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2555-2564) เป็นแผนระยะยาว 10 ปี ในฉบับที่ 4 นี้ มีเป้าประสงค์ว่า ภายในปี 2564 สังคม และสิ่งแวดล้อมปลอดภัย บนพื้นฐานของการจัดการสารเคมีที่มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ 3 ยุทธศาสตร์ และยุทธศาสตร์แรก คือ พัฒนาฐานข้อมูล กลไก เครื่องมือในการจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบครบวงจร ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาศักยภาพและบทบาทในการบริหารจัดการสารเคมีของทุกภาคส่วน และยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีใน 3 แนวทาง คือ ป้องกันอันตรายจากสารเคมี เฝ้าระวังและตรวจสอบผลกระทบจากสารเคมี รับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน การรักษาเยียวยา และฟื้นฟู กำหนดให้มีการทบทวนผลการดำเนินงานทุก 2 ปี และแบ่งระยะเวลาการดำเนินงานออกเป็น 3ระยะ คือ ระยะต้น (พ.ศ. 2555 - 2558) ระยะกลาง (พ.ศ. 2559-2561) และระยะปลาย (พ.ศ. 2562-2564) มีเป้าหมาย คือ มีกลไกและระบบบริหารจัดการสารเคมีของประเทศที่คุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ทุกภาคส่วนมีศักยภาพในการป้องกันและควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากสารเคมี และมีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการจัดการสารเคมีของประเทศ โดยแผนปฏิบัติการระยะต้น ได้มีการเสนอให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายการจัดการสารเคมี เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการจัดการสารเคมี และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายสารเคมีขึ้นมาภายใต้ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี ซึ่งเป็น คณะกรรมการนโยบายการจัดการสารเคมีแห่งชาติ ในปัจจุบัน และมีคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายสารเคมี โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ผลักดัน พ.ร.บ. สารเคมี พ.ศ.......ขึ้นมาใช้แทน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีการทำประชาพิจารณ์ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม-18 ตุลาคม 2562 “จากนี้ในการเดินหน้ามาตรการเลิกใช้สาร 3ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ในปี 63 จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการจัดการสารเคมีแห่งชาติ เพื่อจัดการสารเคมีของประเทศในภาพรวมต่อไป ก่อนส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกมติ รวมทั้งการแบนสารชนิดอื่นที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ความเป็นพิษ มีอันตรายต่อมนุษย์”แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรฯ กล่าว