โลกที่เปลี่ยนไป กลายเป็นยุคดิจิตอล แต่ขณะเดียวกัน ประเภทยาผีบอกเองก็มีพัฒนาการกับเขาด้วย โดยมาโลดแล่นอยู่ในโลกออนไลน์ กลายเป็นข้อมูลเป็นตุเป็นตะ และกลายเป็นไวรัลส่งต่อกันไป ดังเช่นการแชร์ข้อมูลว่า การรับประทานกล้วยนั้น สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนได้อย่างชะงัด ซึ่ง Oryor.com ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุ เป็นข้อมูลที่ผิด และไม่ควรส่งต่อ เพรากล้วย ไม่มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ในการรักษาไมเกรนแต่อย่างใด ในกล้วย นั้น อุดมไปด้วยสารไทรามีน (Tyramine) และสารแมกนีเซียม (Magnesium) ซึ่งถ้าดูแค่ตัวสารไทรามีน เป็นสารที่ควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยไมเกรนบางราย แต่ในบางงานวิจัยก็พบว่า ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างของผู้ป่วยไมเกรนที่มีอาการปวดหัวกำเริบ มีปริมาณสารแมกนีเซียมในสมองลดลง แต่ก็ยังไม่มีอะไรมายืนยันว่า การรับประทานกล้วย ที่อุดมไปด้วยสารแมกนีเซียมไป จะช่วยเพิ่มปริมาณของสารแมกนีเซียมในสมองขณะที่มีอาการปวดหัวไมเกรนอยู่หรือไม่ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ประโยชน์ทางยาของกล้วยสุก คือ 1. ช่วยต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร โดยมีสารเพคติน (Pectin) ที่มีส่วนช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหาร 2. ช่วยในการขับถ่าย โดยสารเพคติน (Pectin) จะไปช่วยเพิ่มกากใยในระบบทางเดินอาหาร จึงช่วยให้การขับถ่ายคล่องขึ้น ทั้งนี้ โรคไมเกรนนั้น เป็นโรคที่อาจจะเกิดจากพันธุกรรม หรือปัจจัยกระตุ้น ส่งผลทำให้หลอดเลือดแดงเกิดการขยายตัวได้มาก และง่ายกว่าคนปกติ อาการของโรคไมเกรนอาจจะมีอาการนำ ก่อนมีอาการปวดหัว หรือไม่มีอาการนำก็ได้ อาการนำที่พบบ่อยคือ อาการทางตา เช่น เกิดตาพร่า เห็นภาพ หรือ แสงสีผิดปกติ รู้สึกหนักที่แขนขาเหมือนไม่มีแรง มีความรู้สึกผิดปกติที่ผิวหนัง เช่น รู้สึกคัน ชา แสบร้อน แนวทางการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน 1. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด อาหาร หรือเครื่องดื่มบางอย่าง เช่น กาแฟ chocolate แอลกอฮอล์ เป็นต้น 2. การใช้ยารักษา ควรใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น โดยแบ่งเป็น ยารักษาอาการปวดไมเกรนแบบเฉียบพลัน  ได้แก่ ยาแก้ปวดพาราเซตามอล, ยาแก้ปวด-อักเสบ กลุ่มNSAIDs, ยากลุ่ม Ergot, ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) ยารักษาแบบป้องกัน  ใช้ในกรณีที่มีอาการปวดไมเกรน และแต่ละครั้งรุนแรง หรือผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาในกลุ่มที่ใช้รักษาอาการปวดไมเกรนแบบเฉียบพลันได้ ได้แก่ ยาโพรพราโนลอล (Propranolol), ยาพิโซติเฟน (Pizotifen), ยาฟลูนาริซีน (Flunarizine), ยาเวอราพรามิล (Verapamil)