เป็นที่น่าจับตามองในเรื่อง “เงินบาท” ที่กำลังส่งสัญญาณความผันผวนอย่างชัดเจนออกมาให้เห็นกันมากขึ้น ซึ่งในช่วง1- 2 เดือนที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยเราแข็งค่ามาก หรือ จะเรียนว่าแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผลจากการที่นักลงทุนต่างประเทศนำเงินมาลุงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ตามแนวทางรัฐบาลที่ใช้เมกกะโปรเจ็ก ในการกระตุ้นการลงทุนให้มากขึ้น และก็เป็นผลสำเร็จ นักลงทุนต่างประเทศขนเงินเข้ามาลงทุนในประเทศเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องนี้เหรียญนั้นมี 2 ด้าน เช่นเดียวกับการลงทุน “เมื่อมีเงินต่างประเทศเข้ามามาก เงินบาทไทยก็แข็งค่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้ส่งออก และเมื่อเงินต่างประเทศออกไป เงินบาทก็อ่อนค่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ ผู้นำเข้า” ดังนั้น ณ เวลานี้ หลังจากที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น จนบางวันแตะมาปิดที่ 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เงินบาทอยู่ที่ 31 – 32 บาท/ดอลล่าสหรัฐ จนถึงขั้นที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องออกมาเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเงินบาทแข็ง จนสำนักข่าว Bloomberg นำไปพาดหัวว่า “นายกรัฐมนตรีไทยบอกให้ประเทศไทยควรใช้เงินดอลลาร์ เงินบาทจะได้อ่อนค่าลง” “มันจะทำให้เงินดอลลาร์สะสมในประเทศลดลง นี่แหละคือสิ่งที่จะแก้ได้ค่อนข้างจะได้ผลนะ หลายอย่างที่เราทำไปเรื่องดอกเบี้ย เรื่องนู้น เรื่องนี้ มันก็ได้แค่นี้” “ถ้าเราใช้จ่ายเป็นเงินดอลลาร์ เงินพวกนี้มันจะออกไป เพราะสายการเงินเราแข็งแกร่ง หลายคนก็เอาเงินมาเก็บในไทยนี่แหละ เป็นเงินดอลลาร์ซะเยอะ นั่นแหละ ปัญหาของเรา ถ้าลองช่วยกันทำตรงนี้ ดูสิมันจะเกิดอะไรขึ้น” เป็นการส่งสัญญาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบโดดลงอธิบายถึงปัญหาเงินบาทแข็งค่า โดย”ธนาคารแห่งประเทศไทย” เผยแพร่บทความข้อเท็จจริงเรื่องค่าเงินบาท และการปรับตัวภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกว่า เงินบาทแข็งค่ามีทั้งผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ ค่าเงินบาทคือการใช้เงินบาทน้อยลงในการแลกเงินสกุลอื่นจำนวนเท่าเดิม เงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้นำเข้าลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า ประชาชนซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศถูกลง ผู้ลงทุนนำเข้าสินค้าทุนถูกลง ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศมีภาระหนี้ลดลง ประกอบกับการที่ “ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์” หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2563 มีโอกาสแข็งค่าแตะระดับ 28.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยมาจาก ทั้งในส่วนของสงครามการค้า ภาพรวมนโยบายการเงินทั่วโลก และการเลือกตั้งสหรัฐช่วงปลายปี ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลบวกกับเงินบาทมากกว่าผลลบเช่นเดียวกับในปีนี้ ทั้งนี้ ในส่วนของสงครามการค้า โอกาสที่สหรัฐจะตกลงกับจีนได้ น่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยจะเห็นว่าหากประเทศไทยที่มีนโยบายต่างประเทศที่ผ่อนคลายกว่าสหรัฐฯ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ จะพยายามหาข้อตกลงการค้าเพื่อกระตุ้นตลาดทุนก่อนเลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นคนที่มีนโยบายแข็งกร้าวกว่าก็อาจเก็บการเจรจาไว้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองเช่นกัน มองว่าถ้าไม่จบจะเป็นประเด็นกดดันค่าเงินหยวน และเศรษฐกิจเอเชีย ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าขึ้นได้ในช่วงไตรมาสที่สอง ขณะที่นโยบายการเงินในปี 2563 จะเป็นปีที่สหรัฐ “ไม่ขึ้น” ดอกเบี้ยแน่นอน ซึ่งเป็นบวกกับสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ ที่มีดอกเบี้ยสูง และอาจมีการกระจายการลงทุนมาในฝั่งเงินบาทที่ความผันผวนต่ำด้วย นอกจากนี้ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐฯปั่นป่วนก่อนเลือกตั้งก็เชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยได้ 0.25-0.50% ซึ่งก็จะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงได้อีก อย่างไรก็ดี เชื่อว่าธปท.จะลดดอกเบี้ยสวนเพื่อประคองให้เงินบาทไม่แข็งค่าเร็วในกรณีนี้ “ปีหน้าคือสงครามการค้ายืดเยื้อ อย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี ทำให้บาทปรับตัวลงในช่วงไตรมาสแรกและอ่อนกลับในไตรมาสที่สอง แต่ตั้งแต่ไตรมาสสามไปจนถึงสิ้นปีน่าจะเห็นเงินทุนไหลออกจากสหรัฐอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงทั้งปี 5-10% เทียบกับสกุลเงินหลักเช่นเยนและยูโร และเงินบาทจะแข็งค่าตามราว 5% ไปที่ระดับ 28.7 บาทต่อดอลลาร์” แต่เรื่องนี้สวนทางกับมุมมองของ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” (ธปท.)ที่ล่าสุดส่งสัญญาณค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงแล้ว “เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนในตลาดโลก เริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งค่าเงินบาท ว่าเงินบาทไม่แข็งค่ามากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน และผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ได้เปลี่ยนคำสั่งและสถานะจากซื้อเงินบาท เปลี่ยนเป็นขายเงินบาท แล้ว ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทิศทางของค่าเงินบาทในช่วงต่อไป ทำให้เงินบาทเริ่มกลับทิศเป็นอ่อนค่า ดังนั้นเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง ไม่ใช่แข็งค่าทางเหมือนที่ผ่านมา และเงินบาทอาจจะไม่ใช่สินทรัพย์ที่ปลอดภัย เหมือนในอดีต ดังนั้นผู้นำเข้าอาจจะต้องซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้บ้างก็จะเป็นเรื่องที่ดี “การไหลเข้าของเงินที่มาลงทุนในหุ้นและพันธบัตรเป็นการไหลออกสุทธิ ดังนั้นเงินทุนที่ไหลเข้ามาไม่ได้เป็นการเก็งกำไร แต่เป็นภาวะที่ผู้ส่งออกนำเงินเข้ามาจากกการเกินดุลการค้า รวมทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังค่อนข้างมาก และหลังจากที่ ธปท. ผ่อนคลายมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกไปแล้วคาดว่าผู้ส่งออกจะนำเงินเข้ามาไม่มากเท่าเดิม เพราะสามารถพักเงินในต่างประเทศได้ในจำนวนที่มากขึ้น ก็จะลดแรงกดดันเงินบาทได้อีกทางหนึ่ง”นายเมธีกล่าว เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองในการแก้ไขปัญหา “เงินบาท” ที่จะรักษาเสถียรภาพได้มากน้อยแค่ไหน!?! วัดใจรัฐบาล “ลุงตู่” จะเลือกวิธีใดมาพยุงเศรษฐกิจประเทศในเวลานี้ ท่ามกลางความวุ่นวายทั้งศึกในประเทศ และนอกประเทศ ที่จี้จอคอรัฐบาล!