ระหว่างวันที่ 5 - 6 ธ.ค.62 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ภายในงาน International Dialogue on STEM EDUCATION 2019 (IDos 2019) มีการจัดงานรวมตัวนักการศึกษาทั่วโลกมากกว่า 100 คนจาก 5 ทวีป โดยบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนทวีปเอเชีย นำเสนอแนวทางพัฒนากิจกรรมเยาวชน หัวข้อ How do we empower children through STEM education to contribute to creating sustainable societies ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมเด็ก ๆ ผ่านการศึกษาและเรียนรู้ด้านสะเต็ม เพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยมีองค์การสหประชาชาติ (UN) และรัฐบาลเยอรมัน พร้อมด้วยมูลนิธิต่าง ๆ ร่วมมือกัน เช่น มูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย มูลนิธิซีเมนส์ เป็นต้น การคัดเลือกผู้แทนดังกล่าว มาจากมติกรรมการจัดงาน 14 ประเทศ คัดเลือกหน่วยงานที่โดดเด่นและมีความคิดสร้างสรรค์ในการจัดกิจกรรมด้านสะเต็มศึกษา (STEM Education) ในงานจะมีตัวแทนจาก 5 ทวีปนำเสนอและเป็นผู้นำกิจกรรม เช่น ผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์ศึกษาจากสมิธโซเนียน สหรัฐอเมริกา ผู้อำนวยการวิทยาการการศึกษาสถาบันออสเตรเลีย ผู้จัดการความร่วมมือต่างประเทศจากสถาบันลูมาฟินแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์การศึกษาความร่วมมือต่างประเทศเคนยา และผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. จากประเทศไทย  นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผอ.ฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. กล่าวว่า บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. กับหัวข้อนำเสนอในที่ประชุมนานาชาติครั้งนี้ คือ การออกแบบกิจกรรมสะเต็มศึกษา โดยคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันของผู้เรียนรู้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยแนะนำเทคนิคการออกแบบกิจกรรมให้นักการศึกษาจากนานาประเทศ เช่น การเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง การสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายในชีวิตตามบริบทท้องถิ่นและความชอบของเด็ก กิจกรรมบูรณาการกับศาสตร์ต่าง ๆ และศิลปะและสังคมศาสตร์มาสร้างความประทับใจ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และไอเดียเจ๋ง ๆ ที่เน้นกระบวนการให้เด็ก ๆ สร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเองมากกว่าการสอน ตลอดจนสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตรและสนุกสนาน เป็นต้น นอกจากตัวแทนทวีปต่างๆ ทั่วโลกแล้ว ยังมีนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงทั่วโลกมาร่วมงาน เช่น ศ.อิลาน ชาเบย์ ผู้พัฒนาพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ที่ใช้ในพิพิธภัณฑ์มากกว่า 230 แห่ง ดร.ฮา วินห์ โธ อดีตอำนวยการความสุขมวลรวมประชาชาติ ภูฏาน และ ดร.ไมเคิล ฟริทซ์ กรรมการบริหารมูลนิธิบ้านวิทยาศาสตร์น้อย เยอรมัน เป็นต้น ทั้งนี้ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548 เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ฝึกทักษะและพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับเด็กและเยาวชนผู้มีความสนใจและมีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. มีความพร้อมทั้งบุคลากร สถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเป็นแหล่งเรียนรู้ และสถานที่จัดกิจกรรม พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมทักษะความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชน โดยมุ่งเน้นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ฝึกฝน เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งกิจกรรมมีรูปแบบหลากหลาย เน้นความเชื่อมโยงกับศาสตร์และเทคโนโลยีที่ สวทช. มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มพูนทักษะทางวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน เช่น กิจกรรมเฉพาะทาง กิจกรรมฝึกทำโครงงานวิทยาศาสตร์ กิจกรรมเยี่ยมชมสำหรับเยาวชน เป็นต้น