ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ภาพสะท้อนแห่งความเป็นตัวตนของมนุษย์ในแต่ละคน ย่อมมีเบื้องหลังแห่งชีวิตให้ได้ค้นหาทั้งด้วยความหวั่นไหวล้ำลึก และ ทั้งด้วยความซ่อนเร้นที่ปิดบังอำพราง...อารมณ์หลักของความเป็นจิตวิญญาณในความรู้สึกล้วนเป็นหัวใจของการหยั่งรู้ที่ติดตรึงถาวรต่อการก่อเกิดความหมายอันยั่งยืนของการมีอยู่...เป็นการตอกตรึงความไหวเคลื่อนของกาลเวลาให้เข้ากับอุบัติการณ์ที่ยอกย้อนของหัวใจ...ที่กลายกลับในกลับกลายอยู่เสมอ...โลกได้สร้างเงื่อนไขแห่งความเป็นภาพแสดงอันไหวเคลื่อนและย้อนแย้งเช่นนี้ต่อนัยแห่งหัวใจของคนเราทุกคนเสมอ...ในทุกๆห้วงยามของกาลเวลา...เป็นบริบทอันสำคัญต่อการแสดงออกทางความคิด...กระทั่งส่งผลถึงบทสรุปของแก่นสารอันแท้จริงที่ยืนยันถึง...ภาพแสดงอันไม่เปลี่ยนแปรใดๆไม่ว่าจะเป็นในวิถีแห่งรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม...” นี่คือต้นเค้าแห่งประพันธกรรมในชีวิตของงานเขียนที่สะท้อนภาพในภาพสะท้อนของโลกแห่ง “ความรู้สึกรู้” โดย “เวอร์จิเนีย วูลฟ์” (Virginia Wolf)..นักเขียนสตรีผู้เปี่ยมความสามารถทางความคิดและการสร้างสรรค์ชาวอังกฤษ ในยุคต้นของศตวรรษที่20... “สตรีในกระจก : ภาพสะท้อนห้วงคำนึง” (The Lady in A Looking Glass/A Reflection)...คือเรื่องสั้นอันงดงามยิ่งจากห้วงอารมณ์อันลึกซึ้งและเพริดพรายในจินตนาการแห่งการประพันธ์ ตลอดจนสัจจะแห่งสำนึกรู้ในข้อตระหนักอันชวนสัมผัสยิ่งของเธอ..มันเป็นภาพแสดงของบทบาทอันพ้องเหมือนของชีวิตที่ขับเน้นความเป็นตัวตนที่ซ่อนเร้น ให้ปรากฏออกมาสู่โลกภายนอกจิตใจอันเปิดกว้างอย่างไม่เกรงใจ...แน่นอนว่าคนเราทุกคนย่อมมีโลกแห่งความเร้นลับในชีวิตคุกคามอยู่...มันเปรียบดั่งคลื่นแห่งชีวิต ที่ไม่เคยเลือกสถานที่และห้วงเวลาที่จะโจมตีความเป็นตัวตนของมวลมนุษย์ให้สั่นคลอนหวั่นไหวจนไม่อาจประคับประคองเอาไว้ได้...ต้นรากแห่งนัยทางความรู้สึกในการประพันธ์เช่นนี้ จึ่งคือสาระที่ถูกนำมาแจกแจงถึงปริศนาแห่งจริตที่ซ่อนอยู่ภายในอันหลากหลาย..ที่ยากต่อการข้ามผ่านโดยไม่เหลียวมองและใคร่ครวญ...... “นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน” ถอดความเรื่องสั้นแห่งความหมายเรื่องนี้ ด้วยภาษาที่ละเมียดละไมและศิลปะแห่งการสื่อความหมายที่มีคุณค่าอันชวนตามยิ่ง... “ไม่มีใครที่สมควรจะแขวนกระจกไว้ในห้อง เพราะมันจะไม่ต่างจากการกางสมุดเช็ค หรือวางจดหมายสารภาพผิดที่ร้ายแรงเอาไว้” บทเริ่มต้นตรงส่วนนี้..คือนัยความหมายอันเป็นหัวใจของเรื่องที่ถูกถอดรื้อออกมาจากรากลึกแห่งก้นบึ้งในการรับรู้ทางประสบการณ์ ซึ่งถือเป็นสภาพแวดล้อมแห่งจิตใจที่ฝังลึกอยู่กับห้วงคำนึงที่ไม่เคยสลัดพ้นของชีวิต... “เวอร์จิเนีย วูลฟ์”...ต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรมและโลกแห่งยุคสมัยที่ขับเคลื่อนไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางเพศที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและอยุติธรรม../การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของแม่เมื่อปีค.ศ.1895 ขณะที่เธอมีอายุได้ 13 ปี และในอีกสองปีต่อมา “สเตลลา” น้องสาวต่างมารดาก็เสียชีวิตตามไปอีกคน..คือบทเริ่มต้นแห่งแรงกระทบใจ ที่ส่งผลเป็นความสะเทือนใจต่อการดำรงอยู่ของชีวิต...จนบังเกิดอาการเจ็บป่วยทั้งทางอารมณ์และจิตใจ(nervous breakdown)แก่ตัวเธอนับแต่นั้น/และครั้นเมื่อพ่อของเธอได้เสียชีวิตลงเมื่อปี ค.ศ.1904 นั่นจึงทำให้ชีวิตของเธอยิ่งพบกับความกระทบกระเทือนใจที่ซ้อนซ้ำเข้าไปอีก กระทั่งต้องถูกส่งเข้าไปรักษาตัวยังสถานบำบัดผู้ป่วยไข้ทางจิตอย่างเป็นทางการ...ต่อมาบรรดานักวิชาการสมัยใหม่ได้มีวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า...ที่เธอต้องเจ็บป่วยทางจิตและภาวะเช่นนี้..อาจเนื่องมาแต่ผลของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ(Sexual Abuse)จากพี่ชายต่างมารดา “จอร์จและเจอร์ราร์ด” ที่ทั้งเธอและพี่สาวต่างต้องตกอยู่ในบ่วงแห่งชะตากรรมอันน่าขมขื่นนี้ร่วมกัน...ประเด็นแห่งความทุกข์เศร้าของชีวิตตรงส่วนนี้..ถูกบันทึกไว้ในข้อเขียนอัตชีวประวัติของเธอ “A Sketch of The Past” และ “22 Hyde Park Gate”..นั่นย่อมเท่ากับว่าชีวิตของเธอต้องได้รับความเจ็บปวดจากการเจ็บป่วยของอารมณ์อันผันผวน(Mood Swing)มาแต่เยาว์วัย...เป็นชะตากรรมที่ไม่ได้เลือกแต่ต้องแบกรับเอาไว้...เธอแต่งงานมีสามีแต่การผันผวนในภาวะอันสลับซับซ้อนของชีวิตทำให้เธอกล้าประกาศตัวอย่างทายท้าว่าเธอรักเพศเดียวกัน...ทั้งที่ ณ เวลานั้นเป็นเวลาแห่งการต้องห้าม และจำกัดสิทธิสตรีต่อการใช้ชีวิตอย่างเสรีที่เข้มงวดยิ่ง/...อาการเจ็บป่วยทางอารมณ์รวมทั้งอาการกดดันอื่นๆส่งผลให้เธอมีชีวิตที่ถูกเบียดบังจากความทุกข์เศร้าเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา แต่หากเธอก็ยังมีพลังในการสร้างสรรค์ผลงานเขียนที่มีค่าของเธออกมาสู่บรรณพิภพได้....มันถูกถ่ายทอดออกมาอย่างต่อเนื่องด้วยสาระที่มีคุณค่าต่อการส่องสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ทั้งภายนอกภายในจิตใจของตัวตนและสังคมแห่งยุคสมัยเสมอ.. “ใครเล่าจะละสายตาจากกระจกบานใหญ่ในโถงทางเดินยามบ่ายของฤดูร้อนเช่นนี้ได้ แล้วความบังเอิญก็พลันเนรมิตให้ภาพสะท้อนที่มองเห็นจากโซฟาในห้องรับแขกไม่เพียงแสดงถึงโต๊ะหินอ่อนที่อยู่ตรงข้ามบานกระจกจากอิตาลีเท่านั้น แต่ยังเผยอาณาเขตบริเวณสวนภายนอกอีกด้วย ภาพทางเดินยาวบนผืนหญ้าซึ่งตัดผ่านแปลงดอกไม้สูงชะลูดขยายไกลออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งแหว่งหายไปที่มุมด้านหนึ่ง กรอบทองของกระจกได้เฉือนภาพที่เหลือทิ้งไปเสียแล้ว...บ้านหลังนี้ช่างวังเวงนัก ยิ่งเมื่ออยู่ลำพังในห้องรับแขกก็ยิ่งรู้สึกเหมือนเป็นนักธรรมชาติวิทยา ผู้พรางตัวด้วยกิ่งไม้ไม้ใบหญ้า แล้วหมอบตัวลงเฝ้ามองสรรพสัตว์ผู้เหนียมอาย...” บทเริ่มต้นแห่งประพันธกรรมของเรื่องสั้นเรื่องนี้ คือนัยแสดงความเหลื่อมซ้อนจากสายตาของหัวใจที่สะท้อนผ่านห้วงอารมณ์อันบริสุทธิ์งดงาม แต่ก็เหมือนจะแหว่งวิ่น กดดัน และถูกกักขัง...วัฒนธรรมแห่งจารีตอันเคร่งครัดที่ถูกสร้างขึ้น และฉาบทาไว้ด้วยภาพแสดงแห่งความเป็นจริงที่ถูกจำกัดขอบเขต ของการประจักษ์แจ้งและมองเห็นในวงกรอบชีวิตของสตรีในยุคสมัยนั้น ที่อยู่ในอาภรณ์สวมใส่ที่มีค่า ปิดบังกายร่างอย่างมิดชิดท่ามกลางบริบทแห่งค่านิยมในการใช้ชีวิตอันหรูหรา แต่กลับถูกบีบแคบด้วยข้อจำกัดแห่งการแสดงออกในหนทางชีวิตอันเสรี...การสวมใส่ชุดเสื้อผ้าที่ห่มคลุมและตั้งใจปิดบังกายร่างอย่างมิตรชิดทั่วทั้งตัว ทำให้ผู้หญิง ณ วันนั้นมีกายร่างที่ปรากฏเป็นอิสระแค่ส่วนของใบหน้า สายตาที่มองเห็น หูที่ได้ยิน และหัวสมองที่สดับรับรู้คือส่วนที่เหลือเพื่อการสัมผัสรู้ในชีวิต...ท่ามกลางข้อห้ามและการอำพรางนี้/...พวกเธอไม่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการจากสถาบันการศึกษาสำคัญดั่งผู้ชาย ไม่ได้รับอนุญาตและการยอมรับในการแดงออกทางวิสัยทัศน์นอกจากเป็นสิ่งผ่านตา พวกเธอถูกเลี้ยงดูและถูกกักขังดั่งนกในกรง...แต่ก็มีข้อจำกัดยิ่งกว่า..ในการมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายนอกชีวิตของตัวเองได้อย่างบีบแคบและไม่รอบด้าน..และสิ่งที่พวกเธอสามารถมองเห็นจากภายใน ก็คือตัวตนและสรรพสิ่งอันชวนโศกเศร้า มีราคาค่างวดแต่ก็ไร้จิตวิญญาณที่จะผูกมัดและใส่ใจ...เช่นเดียวกับบทสะท้อนแห่งการมองเห็นจากภาวะด้านนอกที่...ตายตัวด้วยท่าทีอันซ้ำซากของการจำกัดมุมมอง...จนทำให้สิ่งที่มองเห็นนั้น กลายเป็นสิ่งที่ไร้ชีวิตชีวาแม้จะงดงามและถูกปลูกสร้างไว้อย่างตั้งใจหรือจงใจเพียงใดก็ตาม/ข้อจำกัดทางจารีตและวัฒนธรรมอันหม่นไหม้ดังกล่าวนี้คือภาพสะท้อนในด้านกลับของชีวิต...ซึ่งผู้หญิงในยุคแห่งความไม่เท่าเทียมนี้ต่างพากันหมอบตัวลงเพื่อจะได้มองเห็นบางสิ่งที่อยู่ภายนอกไกลออกไป มันเปรียบดั่งการสยบยอมทางจิตวิญญาณที่หมายถึงการสูญเสียอัตลักษณ์ของชีวิตที่สมควรเป็นและสมควรได้รับอย่างงดงามเบิกบานไปอย่างสิ้นเชิง/...ภาพเปิดสถานการณ์แห่งการดำรงอยู่ของเรื่องสั้นเรื่องนี้...จึงคือบทตอนของความจริงจากหัวใจ อันสั่นไหวเก็บงำของผู้หญิง ที่”เวอร์จิเนีย วูลฟ์”เจตนาจะตีแผ่ความมืดดำแห่งสถานะและบทบาทแห่งผู้หญิงในยุคสมัยของเธอแทบทั้งสิ้น/...ยิ่งถูกกระทำ ยิ่งเจ็บปวดก็จะยิ่งกลายเป็นสัดส่วนในบทสะท้อนของการวิพากษ์แห่งการจองจำของยุคสมัยอันถาวร...ท่ามกลางความโดดเดี่ยวเดียวดาย/หากแต่การมีชีวิตอยู่นั้นต้องดำเนินไป ดั่งวิถีของสัตว์อิสระ ที่ถูกจ้องมองจากอะไรบางสิ่งที่ไม่รู้ตัว...นั่นหมายถึงในเชิงเปรียบเทียบว่า..สัตว์ทุกชนิดย่อมไม่กล้าเปิดเผยตัวตน หากรู้ตัวว่ากำลังถูกจ้องมองอยู่จากสิ่งใดก็ตาม...แต่สำหรับ”เวอร์จิเนีย วูลฟ์” ภาพแสดงผ่านงานเขียนของเธอ และทรรศนะในการแสดงออกอย่างก้องดังที่นำเสนออกมานั้นล้วนคือบทบาทแห่งภาพสะท้อนอันเปรียบดั่งการโลดแล่นของสรรพสัตว์ในโลกแห่งค่ำคืนที่ถึงจะ สวยงาม แต่ก็ไร้ชีวิตอย่างแท้จริง.. “ห้องอันเงียบสงบตามแบบของชนบทยุคก่อนประดับด้วยพรมและหิ้งหินเหนือเตาผิง มีชั้นหนังสือฝังอยู่ในผนังและตู้ไม้เคลือบเงาสีแดงสลับทอง ช่างเป็นห้องที่เต็มไปด้วยสรรพสัตว์ยามราตรี พวกมันหมุนตัวเริงระบำไปทั่วห้อง ยกปลายเท้าขึ้นสูง แล้วเหยาะย่างอย่างแผ่วเบา และรำแพนหางพลางกระดกจะงอยปากจำแลง ราวกับพวกมันเป็นนกกระเรียน หรือเป็นฝูงนกฟลามิงโก้อันสง่างามที่ขนสีชมพูเริ่มซีดโรย ปลายหางสูญสิ้นสีสันไปเสียหมดแล้ว ภายในห้องยังตลบไปด้วยมวลหมอกอันมืดสลัวคลุมเครือ ราวกับว่าปลาหมึกได้ย้อมอากาศให้กลายเป็นเมฆหมอกสีม่วงโดยฉับพลัน จนห้องๆนั้นอบอวลไปด้วย ความคลั่งไคล้ ความเดือดดาล ความริษยา และ ความเศร้าโศกอันล้นปรี่ ไม่ต่างอะไรกับจิตใจของมนุษย์เลย ...ไม่มีสิ่งใดถาวรตายตัว แม้เพียงเสี้ยววินาที” ทั้งหมดในสิ่งทั้งของการพรรณนาเชิงการเขียนผ่านบทบาทสำนึกของ”อิซาเบลลา ไทสัน”ตัวละครเอกของเรื่องสั้นเรื่องนี้ ผู้เป็นตัวแทนแห่งสายตาของจิตใจที่ “เวอร์จิเนีย วูลฟ์” ใช้เป็นตัวแทนแห่งการวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่ครอบงำและกดทับยุคสมัยของเธอ...อย่างแผดกล้าและตรงไปตรงมา..แน่นอนว่า..ในธรรมชาติของสรรพสิ่งอันสวยงามย่อมไม่มีอะไรที่สวยงามจริงๆเลยในธรรมชาติเป็นจริง../.ด้วยผลกระทบจากการถูกกระทำและข้อจำกัดนานา แม้แต่สีสันที่งามสง่าก็ต้องจางหาย...และกลับกลายเป็นความมืดดำบ้าคลั่งไปเสียสิ้น../จารีตนิยมอันบีบเค้นและคับแคบ นี้ทำให้ความงดงามและความมีชีวิตชีวาของผู้หญิงต้องถูกโยนขว้างทิ้งและถูกหมางเมินไปอย่างไร้ค่าจนไม่อยู่ในสายตาของสังคม..อีกต่อไป “ครึ่งชั่วโมงที่แล้ว “อิซาเบลล่า ไทสัน”เจ้าของบ้านหลังนี้ ได้ออกเดินตามทาง บนผืนหญ้าในชุดกระโปรงหน้าร้อนบางเบาพร้อมถือตะกร้าอยู่ในมือ แล้วค่อยๆหายลับไป เธอถูกเฉือนออกจากภาพกรอบทองของบานกระจกไปเสียแล้ว”... กระจกสะท้อนตัวตนของความเป็นชีวิตแท้จริงมีขอบเขตจำกัดแม้จะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดีของสถานะ แต่ครั้นมีใครสักคนคิดจะออกไปจากการเป็นภาพประกอบแห่งกรอบแสดงของกระจกนั้น..มันก็เป็นไปได้ว่าบางทีทิศทางชีวิตของเธอแต่ละคนก็อาจพานพบกับผลลัพธ์ใหม่ทางจิตวิญญาณที่แปลกต่างจากการเป็นความหมายเดิมก็เป็นได้...และนั่นคือความหวังที่ปรากฏในทุกสัดส่วนแห่งงานเขียนของ “เวอร์จิเนีย วูลฟ์”...ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใด!หรือในยามใดก็ตาม!. .. “เธอคงจะเดินลงไปในสวนเพื่อเก็บดอกไม้ ซึ่งอาจคาดเดาว่า.. คงเป็นดอกไม้ที่บอบบางและสะดุดตา มีใบเขียวชอุ่ม และเถาไม้เลื้อยพันรอบเหมือนพวงแก้วกุดั่น หรือช่อดอกผักบุ้งอันชดช้อยที่ลากเลื้อยรอบกำแพงอันแสนจะอัปลักษณ์/ผลิดอกขาวดอกม่วงบานสะพรั่งผุดไปทั่วบริเวณ ตัวเธอเองก็เปรียบเหมือนดอกผักบุ้งละเอียดอ่อนอ้อนแอ้นมากกว่าดอกเอสเทอร์ที่เหยียดตรง หรือดอกบานชื่นที่แข็งกระด้าง หรือกระทั่งกุหลาบแดงที่ลุกโชติช่วงเหนือกิ่งก้านอันเรียวตรงราวกับโคมไฟที่ส่องสว่างบนยอดเขา...แต่การเปรียบเทียบเช่นนี้ย่อมเผยชัดว่า.เวลาที่ล่วงผ่านมิได้ทำให้เราเข้าใจเธอมากขึ้นเลย เพราะสตรีผู้นี้มีเลือดเนื้อจับต้องได้ในวัยห้าสิบห้าหรือหกสิบปีนั้น จะเป็นดั่งพวงดอกไม้หรือเถาไม้เลื้อยอย่างไรกันเล่า การเปรียบเทียบนี้ไม่เพียงแต่ดูตื้นเขินและไร้ค่า แต่ช่างอำมหิต เพราะความเปรียบเทียบนี้ย่อมสั่นสะท้านหวั่นกลัวดั่งดอกผักบุ้งเมื่ออยู่ภายใต้สายตาจดจ้องของมนุษย์และสภาพความเป็นจริง..ในที่ที่สุดแล้วความเป็นจริงก็จะต้องดำรงอยู่ และกำแพงจะต้องปรากฏขึ้น..แต่ทว่านับเป็นเรื่องประหลาดที่เวลาอันล่วงผ่าน...มิได้ทำให้เรารู้ความจริงเกี่ยวกับอิซาเบลลาเพิ่มขึ้นเลย” ..บทสรุปแห่งความคับข้องของจิตใจตรงส่วนนี้คือการเปิดเปลือยความย้อนแย้งต่อกฎเกณฑ์แห่งจารีตนิยมของยุคสมัย..ที่ผู้หญิงถูกลดค่าในฐานะของความเป็นมนุษย์ด้วยสถานะที่ถูกตีค่าต่ำกว่าความเป็นชาย..ภาพสะท้อนในภาพสะท้อนที่ “เวอร์จิเนีย วูลฟ์” เขียนเป็นรายละเอียดเชิงเปรียบเทียบและเบิกประจานบาดแผลแห่งชะตากรรมในห้วงชีวิตของเธอไว้ในเรื่องสั้นเรื่องนี้...นับเนื่องเป็นปฐมบทแห่งการวิพากษ์ที่จงใจและจริงจัง เพื่อหวังให้เกิดภาวะสำนึกแห่งการประเมินค่าตัวตนของสตรีด้วยศักดิ์ศรีอันเทียมเท่า...ในฐานะมนุษย์ที่มีเกียรติภูมิเสมอกัน...ซึ่งแม้จะเจ็บปวดและต้องรอคอยวันเวลา...แต่นั่นก็คือเกียรติแห่งศักดิ์ศรีอันควรค่าแก่การที่ต้องกระทำมิใช่หรือ? 28 มีนาคมปี ค.ศ.1941...ขณะมีอายุได้ 59 ปี/ “เวอร์จิเนีย วูลฟ์” ได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยการใช้หินหนักสองก้อนถ่วงตัวเอง..ก่อนที่จะเดินลุยสายน้ำลับลาชีวิตไป/ในบทสะท้อนของอารมณ์ความรู้สึกที่งดงาม...ย้อนแย้ง และ เด็ดเดี่ยว ระคนกัน/นั่นคือภาวะความจริงที่อธิบายถึงนัยแห่งความเป็นจิตวิญญาณที่กระซิบบอกกล่าวต่อใครๆที่มองเห็นถึงห้วงคำนึงของแสงสว่างแห่งปัญญา บทสำคัญที่ย้ำเตือนต่อผู้หญิงทุกคนที่ว่ายวนอยู่กับโศกนาฏกรรมจากปริศนาแห่งจารีตนิยมที่บกพร่อง เห็นแก่ตัว และอยุติธรรมว่า.. “ไม่สมควรที่ใคร !!!...ไม่ควรจะมีใครแขวนกระจก....ทิ้งไว้ในห้องอีกต่อไป!!!”