คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์ / ก๊วยเจ๋ง “ย้อมผ้าต้องใช้สี ย้อมคนดีต้องใช้การศึกษาอบรม” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ท่านเป็นผู้เป็นคน “แบบของท่าน” นี้ได้ ก็เพราะการเลี้ยงดูจากหลายๆ คน หลายๆ ส่วน คือ “ที่เป็นคน” ที่เลี้ยงดูท่านก็มีมาก เริ่มจากพ่อแม่ และ “ที่ไม่ใช่คน” ที่เลี้ยงดูท่านก็มีมาก ได้แก่ สภาพแวดล้อมและสภาวการณ์ความเป็นไปต่างๆ ในชีวิต ภาษาไทยมีคำว่า “ชาติตระกูล” ที่หมายถึงคนที่เกิดมาในชาติตระกูลใดก็ย่อมจะสืบทอดหรือดำเนินชีวิตไปตามแบบของชาติตระกูลนั้นๆ แต่ส่วนใหญ่เรามักจะตีความหมายไปในทางที่แปลว่า “ความเหนือกว่า” เช่น เธอเป็นคนมีชาติตระกูล(เป็นผู้ดี) ฉันมันคนต่ำต้อยไร้ชาติตระกูล(เป็นไพร่หรือสามัญชน) ซึ่งคนทั่วไปมักจะมองว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านเกิดในตระกูลที่ดี คือเป็นคนมีชาติตระกูล ท่านจึงเป็นคนดีอยู่แล้วโดยชาติกำเนิด และด้วยชาติกำเนิดที่ดีอย่างนี้ ก็ทำให้ท่านมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองดีกว่าคนทั่วๆ ไป ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์โต้แย้งคนที่คิดแบบข้างต้นว่า “คนเราไม่ใช่ได้ดีด้วยชาติตระกูล แต่ด้วยความประพฤติและการดำรงชีวิตของแต่ละคนเท่านั้น” เพราะแม้แต่ในหมู่คนที่มีเชื้อเจ้าหรือคนที่มีชาติตระกูลสูง ก็ยังมีทั้งคนดีคนเลว อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยนำมาเขียนเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษของท่าน ในหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” ที่ชื่อหนังสือนี้ท่านเอามาจากสำนวนฝรั่งในคำที่ว่า Skeleton in the Cupboard ในความหมายที่ฝรั่งเขาพูดถึงคนในวงศ์ตระกูลว่าได้ทำ “ความไม่ดี” อะไรไว้บ้าง เพื่อให้ลูกหลานได้จดจำเป็นบทเรียนและปรับเปลี่ยนแก้ไข ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ท่านโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่ดีและในสภาพแวดล้อมที่ดี คือพ่อแม่เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอบรมของบุตรและธิดา ดังจะเป็นว่าลูกชายทั้งสามคนได้ศึกษาจนจบต่างประเทศ และลูกสาวก็ได้รับการศึกษาอบรมให้เป็นกุลสตรีตามความนิยมในยุคนั้น ทำให้ลูกทุกคนมี “วุฒิสมบัติ” คือวิชาความรู้ที่ดี เพียงพอที่จะดำรงชีวิตให้ดีขึ้น ดีกว่าที่จะมีเพียง “ชาติสมบัติ” หรือชาติกำเนิดที่เกิดมาเป็นเชื้อพระวงศ์นั้น และในฐานะที่ท่านเป็นหม่อมราชวงศ์ก็เป็นเพียง “เชื้อพระวงศ์หางแถว” เท่านั้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยวิเคราะห์ตัวเองให้ผมและคนใกล้ชิดฟังว่า “ความเป็นตัวตน” ของท่านน่าจะเกิดจากการที่ท่านได้เข้าไปเห็นหลายสิ่งหลายอย่างในการใช้ชีวิตของชนชั้นสูง ที่เรียกว่า “ชาววัง” เพราะท่านแม่คือหม่อมแดง ปราโมช เคยเป็นชาววังมาก่อน แม้ออกมาแต่งงานกับท่านพ่อแล้ว ก็ยังหาโอกาสกลับไปแวะเยี่ยมเยียนเพื่อนและเจ้านายในวังอยู่เป็นประจำ พร้อมกับพาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่เป็นเด็กเล็กๆ เข้าไปในวังด้วยเสมอ และด้วยจากการที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นคนช่างสังเกต ท่านก็ชอบที่จะจดจำ “ความเป็นชาววัง” ต่างๆ เช่น การพูดจากันด้วยปฏิภาณไหวพริบ ความตลกขบขัน และการซุบซิบพูดจาหากข่าวมาเล่าสู่กันฟัง เป็นต้น ดังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ถ่ายทอดความเป็นชาววังเหล่านี้ไว้ในนวนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ของท่าน ซึ่งท่านเขียนไว้ในคำหนังของหนังสือเล่มนี้ว่า “เป็นเรื่องชีวิตของชาววัง” นั่นคือชีวิตชาววังได้ทำให้ท่านมี “ความเป็นไทย” ที่ฝังรากแน่นลึกมาตั้งแต่เยาว์วัย “ความเป็นไทย” ที่ว่านี้ก็คือ ความเคารพเทิดทูนในองค์พระมหากษัตริย์ ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และความเป็นชาติ การดำรงตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่เหมาะสม การเคารพยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ความดื่มด่ำซาบซึ้งในศิลปะและวัฒนธรรมไทย การเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ความเมตตาโอบอ้อมอารี ความนอบน้อมถ่อมตน และความใจบุญสุนทาน ซึ่งคนที่เคยรู้จักกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็จะพบว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มี “ลักษณะของความเป็นไทย” ดังที่ว่ามานี้ครบถ้วนทุกประการ ไม่เพียงแต่ความเป็นไทยเท่านั้นที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีอยู่อย่างสมบูรณ์ แต่ “ความเป็นสากล” ท่านก็มีอยู่มากเช่นกัน และนี่ก็คือสิ่งที่ส่งเสริมให้ท่านประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงทั้งในระดับชาติและนานาชาติ นั่นก็คือการที่ท่านได้ไปใช้ชีวิตและศึกษาเรียนรู้ในประเทศอังกฤษอยู่ถึง ๗ ปี ตั้งแต่ไปเรียนชั้นมัธยมในโรงเรียนประจำที่ Trent College จนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จึงทำให้ท่านได้เรียนรู้ในศิลปวิทยาการในด้านต่างๆ ของโลกอย่างกว้างขวาง ซึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า ดูเหมือนว่าท่านจะ “ตื่นเต้น” ให้ความสนใจกับวิชาความรู้ต่างๆ ไปเสียหมด คือพอเรียนอะไรก็อยากรู้ให้มากๆ เหมือนกับว่าเรื่องนั้นๆ ไม่มีความที่จะรู้ได้สิ้นสุด ซึ่งท่านเปรียบเทียบว่าเป็นอาการเดียวกับคนที่หิวกระหายน้ำ อยากดื่มกินจนไม่รู้จักอิ่ม แต่ที่ตื่นเต้นไปมากกว่านั้น และเป็นสิ่งทำให้ท่าน “ตื่นตาตื่นใจ” จดจำได้ตลอดก็คือ การได้ท่องเที่ยวไปในยุโรปหลายๆ ประเทศ ที่ทำให้ท่านได้ “เปิดหูเปิดตา” พบเห็นกับสิ่งที่ประทับใจมากมาย ที่ท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือประวัติศาสตร์ของสถานที่ต่างๆ ที่ทำให้ท่านรู้จักและเข้าใจคนยุโรปได้อย่างลึกซึ้ง เพราะความรู้ต่างๆ ในยุโรปไม่เพียงแต่มีมากและทันสมัยแล้ว แต่ยังเผยแพร่หรือถูกนำไปศึกษาเรียนรู้กันไปทั้งโลกอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังได้ไปสัมผัสวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนที่ยุโรปอย่างถ้วนทั่ว สิ่งหนึ่งที่นำไปสู่ “จิตวิญญาณ” ของความเป็นคนชนชาติยุโรปก็คือ “อาหาร” ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่เพียงแต่ได้ไปลิ้มชิมรส แต่ยังได้ “สติปัญญา” จากจานอาหารเหล่านั้นอย่างมากมายมหาศาลอีกด้วย ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นคนที่ชอบเทคโนโลยี เมื่อมีสิ่งของเครื่องใช้อะไรที่เป็น “ของใหม่ๆ” ออกมา ท่านก็มักจะไปซื้อหามาไว้เป็นคนแรกๆ ไม่ใช่เพื่อที่จะเอามาโอ้อวดให้ดูโก้หรูหรูหรือร่ำรวยอะไร แต่เป็นความสนใจส่วนตัวของท่าน อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Passion คือ “ความอยากที่ยากจะหักห้ามใจ” (คนสมัยนี้ใช้ศัพท์ถึงสิ่งของต่างๆ ที่ต้องซื้อด้วยความอยากนี้ว่า “ของมันต้องมี”) เป็นต้นว่า กล้องถ่ายรูป เครื่องเสียง วิทยุ โทรทัศน์ วิดีโอ เครื่องเล่นซีดีและดีวีดี คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งส่วนหนึ่งท่านซื้อมาเพื่อศึกษาเรียนรู้ ในแบบที่ผมอยากจะขอเรียกว่า “แค่ให้ได้รู้จัก” ว่ามันคืออะไร เหมือนกับว่าได้รู้จัก “เพื่อนใหม่” แล้วก็มีความสุขกับสิ่งนั้นเท่านั้น การเรียนรู้ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงไม่หยุดนิ่ง ดังที่ท่านได้ศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างมาจนตลอดชีวิตนั้น