คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย สามปีก่อนนับตั้งแต่ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวดูเหมือนว่า ทุกๆวันค่ายพรรครีพับลิกันจะต้องจรดจ่อคอยเงี่ยหูฟังว่า จะพบเจอกับเรื่องอื้อฉาวอันใดของเขา และในเวลาเดียวกันก็จะต้องคอยระแวดระวังนักการเมืองของค่ายพรรคเดโมแครตที่พยายามหาทางเลื่อยขาเก้าอี้ นั่นจึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้มีการถอดถอนตราบเท่าทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์แวดวงการเมืองของสหรัฐอเมริกาในช่วง 243 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีมาแล้วถึง3 คนด้วยกัน ในกรณีการขับเคลื่อนของค่ายพรรคเดโมแครตเพื่อหวังจะถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ให้กระเด็นออกไปจากตำแหน่งนั้น เริ่มต้นโดยมี “ส.ส.แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรออกมากล่าวประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมนี้สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติด้วยคะแนนเสียงที่เห็นด้วย 232 เสียง และที่ไม่เห็นด้วย 196 เสียง ในการดำเนินการสอบสวนกระบวนถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์!!! “ส.ส.อดัม ชิฟฟ์” ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองออกมาเดินเกมด้วยการรุกรวบรวมหลักฐานพฤติกรรมต่างๆของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเริ่มต้นด้วยการเชิญพยานหลายๆคนเดินทางไปให้ปากคำเป็นการภายใน และมีการต่อยอดด้วยการไต่สวนพยานอีก 12 คน ที่มีการถ่ายทอดออกสู่สายตาของสาธารณชนระหว่างวันที่ 13 - 21 พฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านมานี้ และแล้วสัปดาห์นี้เมื่อวันอังคารประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองอดัม ชิฟฟ์ ก็ได้ส่งรายงานหนาถึง 300 หน้าไปยัง “ประธานคณะกรรมาธิการตุลาการเจอร์รี่ นาดเลอร์” ผู้ที่ทำหน้าที่ฝ่ายอัยการ ผลสรุปของรายงานทั้ง 300 หน้านี้มุ่งประเด็นทั้งหมดไปที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้อำนาจหน้าที่ตักตวงผลประโยชน์ทางการเมืองเพื่อตนเอง โดยไม่สนว่าประเทศชาติจะได้รับผลกระทบแต่อย่างใด!!! ทั้งนี้รายงานยังได้โยงใยไปถึงเรื่องที่ประธานาธิบดีทรัมป์สั่งกักเงิน 391 ล้านเหรียญที่สภาคองเกรสอนุมัติให้ส่งไปช่วยเหลือยูเครนปกป้องจากการรุกรานจากรัสเซีย โดยประธานาธิบดีทรัมป์ตั้งเงื่อนไขกดดันประธานาธิบดีวลาดิมีร์ เซเลนสกี ว่า หากมิยอมร่วมมือตรวจสอบความเคลื่อนไหวของอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อหวังจะนำเอาข้อมูลด้านลบไปใช้ประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เหมือนที่เคยกระทำกับฮิลลารี คลินตันมาแล้ว ก็จะไม่ยอมส่งมอบเงินดังกล่าวเข้าข่ายยื่นหมูยื่นแมว (Quid Pro Quo) เพื่อกอบโกยผลประโยชน์เข้าหาตน รายงานชุดนี้นับว่าเป็นประเด็นร้อนดราม่าสุดๆที่คณะกรรมาธิการตุลาการจะนำไปใช้ตั้งข้อหาต่างๆ (Articles of Impeachment) ต่อประธานาธิบดีทรัมป์ก่อนสิ้นปีนี้ ในซีกของคณะกรรมาธิการข่าวกรอง ซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกันเดียวกันกับประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้ออกมาเปิดเผยผลสรุปรายงานของฝ่ายตนที่มีความยาว 123 หน้าล่วงหน้าหนึ่งวัน ก่อนที่ค่ายพรรคเดโมแครตจะยื่นรายงานต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรอง โดยรายงานของค่ายพรรครีพับลิกันชี้ว่า “การสนทนาระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดีของยูเครนเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ มิได้เป็นการกดดันต่อประธานาธิบดีของยูเครน และมิได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด” และยังได้ชี้ต่อไปว่า “การให้ปากคำของนักการทูตทั้ง 12 คนระหว่างวันที่ 13 ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น เนื่องมาจากไม่ชอบขี้หน้าประธานาธิบดีทรัมป์” แถมพรรครีพับลิกันยังปฏิเสธข้อกล่าวหาที่มาจากค่ายพรรคเดโมแครต เพื่อปกป้องประธานาธิบดีทรัมป์ในทุกๆประเด็น ภายหลังจากการที่ ส.ส.เจอร์รี นาดเลอร์ ประธานคณะกรรมาธิการตุลาการ สังกัดพรรคเดโมแครต ได้รับรายงานของฝ่ายคณะกรรมาธิการข่าวกรองทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันแล้ว ก็จะนำรายงานของทั้งสองฝ่ายไปทำการพิจารณาโดยได้เชิญให้ประธานาธิบดีทรัมป์เข้าร่วมในกระบวนการดังกล่าวด้วย แต่กลับปรากฏว่าทนายความประจำทำเนียบขาวได้ออกมาแถลงว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม” โดยชี้ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่มีความยุติธรรม!!! อนึ่งคณะกรรมาธิการตุลาการในฐานะอัยการจะมีการไต่สวนต่อไปเรื่อยๆ โดยจะพิจารณาว่าประธานาธิบดีทรัมป์สมควรที่จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือไม่? ซึ่งจะมีการถ่ายถอดสดให้สาธารณชนได้รับชมและรับฟัง และยังมีพยานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐธรรมนูญจากสถาบันที่มีชื่อเสียงอีก 4 ท่านเข้าร่วมในการพิจารณาอีกด้วย โดยพยานเหล่านี้ได้แก่ “โนอาห์ เฟลค์แมน” จากคณะนิติศาสตร์ ฮาร์วาร์ด, “พาเมลา คาร์แลนด์” จากคณะนิติศาสตร์ สแตนฟอร์ด, “ไมเคิล เคปฮาร์ด” จากคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยนอร์ท-แคโรไลนา และ “โจนาธาน เทอร์ลีย์” จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทาลัยยอร์จ วอชิงตัน เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมาธิการตุลาการมีสมาชิกของพรรคเดโมแครต 24 คน และมีสมาชิกของพรรครีพับลิกัน 17 คน นับว่าพรรคเดโมแครตมีข้อได้เปรียบสูงกว่าค่ายของพรรครีพับลิกัน!!! กระนั้นก็ตามทั้งฝ่ายพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันต่างมุ่งหวังมติจากมหาชนคนอเมริกันซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญว่าประธานาธิบดีทรัมป์สมควรจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือไม่? แต่จุดบอดก็คือแม้ว่าคนอเมริกันจะติดตามเรื่องนี้แต่มิได้สนใจศึกษาลงลึกในรายละเอียด อย่างไรก็ตามเป็นที่คาดกันว่าคณะกรรมาธิการตุลาการที่มี ส.ส.เจอร์รี นาดเลอร์เป็นประธานนั้นอาจจะตั้งข้อหาต่างๆต่อประธานาธิบดีทรัมป์ราวๆปลายเดือนนี้ โดยคาดกันว่าอาจจะมีข้อกล่าวหาดังเช่นประธานาธิบดีทรัมป์กระทำขัดขืนต่อกระบวนยุติธรรม กระทำความผิดโดยให้ต่างชาติเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของสหรัฐอเมริกาเป็นต้น บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่ได้รับเสียงโจษจันมากในขณะนี้ก็คือ “รูดี เกียลีอานี” ทนายความส่วนตัวของประธานาธิบดีทรัมป์เนื่องมาจากเขาให้สัมภาษณ์อย่างตรงกันข้ามผิดเพี้ยนกับของนักการทูตทั้ง 12 คนต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองว่า “ทนายความผู้นี้อยู่เบื้องหลังการดำเนินการกดดันให้ประธานาธิบดียูเครนปฏิบัติตามคำบงการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ก่อนหน้านี้ทนายความผู้นี้เคยเป็นที่ชื่นชมจากประธานาธิบดีทรัมป์อย่างออกนอกหน้า แต่ขณะนี้กลับปรากฏว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้ให้สัมภาษณ์กล่าวออกตัวปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่า “ไม่ค่อยรู้จักสนิทสนมกับเกียลีอานีมากเท่าใดนัก” ทำนองเดียวกันกับกรณีของไมเคิล โคเฮน อดีตทนายความส่วนตัวของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เคยถวายหัวช่วยทำงานมากว่าสิบปี แต่พอมีเรื่องเข้าหาตัวและอาจจะโยงใยไปถึงประธานาธิบดีทรัมป์ เขาก็ได้ออกมาปฏิเสธว่า “ไม่ค่อยรู้จักไมเคิล โคเฮน มากเท่าใด” โดยขณะนี้ทนายความผู้นี้ถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี!!! กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นเรื่องราวทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับคณะลูกขุนวุฒิสมาชิกจำนวน 100 ที่นั่งซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ได้เปรียบสูง โดยมีวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกันมากกว่าวุฒิสมาชิกของพรรคเดโมแครต 53 ต่อ 47 โดยมี “จอห์น โรเบิร์ต” ประธานศาลสูงสุดรับหน้าที่ประธานไต่สวนเท่ากับว่า จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประธานาธิบดีทรัมป์ว่าจะพบกับทางตันหรือจะได้ไปต่อในสมัยที่สองหรือไม่และอย่างไร?ละครับ