กรมวิชาการเกษตร สบช่องตลาด “เห็ดเยื่อไผ่” กำลังโตราคาพุ่ง 2,500-6,000 บาท/กก. เร่งถ่ายทอดผลงานวิจัย “เห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์ไทยปลอดสาร”สู่เกษตรกรเพาะเชิงพาณิชย์ เพื่อลดการนำเข้าปีละ 6,500 ตัน เผยสรรพคุณเด็ดต่อต้านอนุมูลอิสระและเป็นยาโป้วสูง นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่8(สวพ.8) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันเห็ดร่างแหหรือเห็ดเยื่อไผ่นับเป็นเห็ดเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมของคนไทยอย่างมาก เนื่องจากเห็ดมีสรรพคุณทางยาและคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้งเมือกเห็ดยังมี คุณสมบัติในการบำรุงผิวพรรณ จึงทำให้คนไทยหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากเห็ดเยื่อไผ่เพิ่มมากขึ้น สำหรับประเทศจีนถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดการเพาะเห็ดเยื่อไผ่ และเป็นประเทศเดียวในโลกที่เพาะเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์เห็ดร่างแหกระโปรงยาวสีขาว ส่วนประเทศไทยมีการนำเข้าเห็ดเยื่อไผ่แห้งมาบริโภคภายในประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 6,500 ตัน สำรับลู่ทางตลาดของเห็ดร่างแหหรือเห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์ไทยมีจุดเด่น คือ ให้ผลผลิตสูง สามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี กลิ่นดอกไม่ฉุน ขนาดดอกใหญ่ และหนา เนื้อสัมผัสกรอบ ไม่เปื่อยยุ่ยและปราศจากสารฟอกขาว ทิศทางตลาดเกษตรกร สามารถส่งผลผลิตเห็ดเยื่อไผ่ชนิดแห้ง เพื่อการแปรรูปเป็นอาหารยังโรงแรมและ ภัตตาคาร ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 2,500-6,000 บาท จากราคาที่จำหน่ายในท้องตลาดอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 500-1,000 บาท เห็ดเยื่อไผ่สด 14-16 กิโลกรัมทำเห็ดแห้งได้ 1กิโลกรัมและหากประเทศไทยสามารถส่งเสริมการเพาะเห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์ไทยบริโภคภายในประเทศ และส่งขายตลาดต่างประเทศจะสามารถประหยัดเงินตราอย่างมหาศาลและเป็นการสร้างอาชีพใหม่ให้เกษตรกรไทยมีรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืนในอนาคต ปัจจุบันการเพาะเห็ดเป็นการค้ามีการขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องการเพาะเห็ดให้ผลผลิตเร็ว การลงทุนไม่สูงมากนัก และขั้นตอนการปลูกไม่ซับซ้อนหรือยุ่งยาก และเป็นอาชีพที่สามารถทำรายได้ตลอดปีทําให้มีผู้สนใจที่จะเพาะเห็ดมากขึ้น การเพาะเห็ดให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพต้องเริ่มจากสายพันธุ์เห็ดที่จะนํามาเพาะเลี้ยง เนื่องจากเชื้อเห็ดที่มีการเพาะเลี้ยงในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการคัดเลือกเชื้อพันธุ์จากธรรมชาตินำมาปรับปรุงให้อยู่ในสภาพโรงเรือนเหมาะที่จะปลูกเป็นการค้า ดังนั้นการคัดเลือก การผสมพันธุ์ การประเมินสายพันธุ์เห็ดสายพันธุ์ต่างๆ ให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพและผลผลิตสูงเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในแต่ละพื้นที่เป็นทางเลือก และพัฒนาวิธีการเพาะเห็ดที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่และแบบการผลิต ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรมีภารกิจเกี่ยวกับการศึกษา วิจัย และพัฒนาพืชให้ได้พืชพันธุ์ดี เพื่อถ่ายทอด เทคโนโลยีการผลิตพืชสู่กลุ่มเป้าหมายทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ซึ่งการวิจัยและพัฒนาเห็ดก็เป็นอีกผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อการสร้างรายได้เข้าประเทศและส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกรไทย ด้านนางสาวนพวรรณ นิลสุวรรณ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สวพ.8 กล่าวถึงแนวทางวิจัยว่า ได้ทำการคัดเลือกเห็ดร่างแหสายพันธุ์ใหม่ คือเห็ดร่างแหกระโปรงสั้นสีขาวในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง มีจุดเด่นคือ ให้ผลผลิตสูง สามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี ไม่มีกลิ่นเหม็น เนื้อสัมผัสกรอบ ไม่เปื่อยยุ่ย และไม่มีการปนเปื้อนของสารปรอทและแคดเมียม สําหรับคุณค่าโภชนาการ เห็ดร่างแหมีส่วนประกอบของกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้(essential amino acid) 7ชนิดและพบสารสำคัญคือสาร Phosphatidylcholine, สาร Dictyophorine A and B โดยสารดังกล่าวมีส่วนช่วยกระตุ้นการทํางานของเซลล์ประสาทและป้องกันโรคสมองเสื่อมและสารโฟลีฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งเป็นสารสําคัญในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ในส่วนของสรรพคุณทางยาตําราแพทย์แผนจีน กล่าวว่า หากรับประทานเห็ดร่างแหระยะดอกตูม จะมีฤทธิ์สรรพคุณเป็นยาชูกำลังหรือยาโป้วสูง นอกจากนี้ ปัจจุบันยังได้มีการต่อยอดเป็นเวชภัณฑ์เครื่องสำอางจากเห็ดเยื่อไผ่ เป็นเซรั่มธรรมชาติโดยสกัดจากเมือกหุ้มดอกเห็ดที่อุดมไปด้วยกรดไฮยาลูรอนิค อัลลันโทอิน ที่มีคุณสมบัติบำรุงผิวพรรณ ลดการระคายเคือง เพิ่มความชุ่มชื้น ช่วยลดเลือนริ้วรอยก่อนวัยและกำลังพัฒนาเป็นเวชภัณฑ์เครื่องสำอางค์รูปแบบต่างๆและนำวุ้นของเห็ดเยื่อไผ่มาทำเป็นเครื่องดื่มในอนาคตถือว่าการเพาะเห็ดเยื่อไผ่เป็นอีกช่องทางหนึ่งให้กับเกษตรกรที่สนใจทำเป็นอาชีพสร้างรายได้เป็นอย่างดี