สทนช. ร่วมกับ สผ. หารือเชิงนโยบายมุ่งจัดการน้ำยั่งยืนภายใต้ภาวะโลกร้อน ผ่านการบูรณาการการบริหารทรัพยากรน้ำและการตั้งรับปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รุดผลักดันผ่านโครงการน้ำขนาดใหญ่และการบริหารน้ำโขง พร้อมขับเคลื่อนลงสู่ระดับลุ่มน้ำและชุมชนเพื่อผลปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเชิงนโยบาย การบูรณาการการบริหารทรัพยากรน้ำและการตั้งรับปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประธานร่วมกับ ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ คุณสเตฟาน ฮุปเพิทซ์ ผู้อำนวยการโครงการด้านน้ำ ภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างรัฐบาลไทย-เยอรมนี จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือร่วมกันระหว่าง สทนช. กับ สผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับนโยบาย และได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการ เพื่อการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 พร้อมด้วย GIZ ซึ่งได้มีการดำเนินงานร่วมกัน ภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทย-เยอรมัน (TGCP) เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาแนวทางการบูรณาการในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน “ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศคือปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึง เนื่องจากมีผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและหลากหลาย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ภาคส่วนของน้ำที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่น ก่อให้เกิดอุทกภัย ภัยแล้ง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการเปลี่ยนแปลงของการกระจายของฝน ฯลฯ ดังนั้น สทนช. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านบริหารจัดการน้ำ และยังเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานสาขาด้านน้ำตามแผนงาน TGCP รวมถึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เล็งเห็นความจำเป็นในการพิจารณาประเด็นความเปราะบาง ความอ่อนไหวและความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้ากับการวางนโยบาย แผนงาน และกิจกรรมด้านบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดการจัดการแหล่งน้ำอย่างยั่งยืนและมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง จึงได้ร่วมกับ สผ. พร้อมด้วยการสนับสนุนจาก GIZ ประชุมหารือเพื่อเร่งบูรณาการการบริหารจัดการน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เข้ากับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับนโยบาย โดยคาดหวังว่าจะเกิดการบูรณาการที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับประเทศไปจนถึงระดับลุ่มน้ำด้วย” ดร.สมเกียรติ กล่าว ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนการบูรณาการดังกล่าว ในประเด็นนโยบายยุทธศาสตร์การตั้งรับปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประยุกต์มาตรการการปรับตัวแบบอาศัยระบบนิเวศ (EbA) กับโครงการด้านน้ำที่เหมาะสมกับบริบทสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดความเข้มแข็ง ทั้งในภาคส่วนน้ำและภาคส่วนอื่น ๆ อาทิ ภาคการเกษตร ภาคสุขาภิบาลและอนามัย เป็นต้น โดยทั้งสองหน่วยงานมีจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องในเรื่องการให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงและบูรณาการแผนในระดับพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยขับเคลื่อนการบูรณาการลงสู่ระดับลุ่มน้ำ ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ ลงไปสู่ระดับชุมชนอย่างเป็นระบบ ซึ่ง สทนช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำจะช่วยให้การผลักดันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมผลักดันการบูรณาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่ภาคส่วนน้ำ ผ่านการวางโครงการขนาดใหญ่ การบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และประเด็นคาบเกี่ยว (Cross-Cutting Issues) ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในด้านที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล และด้านที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วย โดย สทนช. และ สผ. จะบูรณาการการทำงานด้วยการวางแผนการดำเนินงานภายใต้ MOU รวมถึงจะมีการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายร่วมกัน ซึ่ง สผ. พร้อมที่จะให้การสนับสนุน สทนช. อย่างเต็มที่ ทั้งด้านการประสานงานและด้านวิชาการ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศที่เหมาะสม ทันต่อสถานการณ์ และมุ่งสู่ความยั่งยืนต่อไปในอนาคต