ตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศมากมายในหลายมิติ ทรงทุ่มเทพระวรกาย ความรู้ความสามารถช่วยพสกนิกรชาวไทยให้ผ่านพ้นปัญหา “กรุงเทพมหานคร” ศูนย์กลางความเจริญของประเทศ ทุกถนน ตรอก ซอก ซอย เต็มไปด้วยรถรา วิ่งกันขวักไขว่ แน่นอนเลยว่าเมื่อถามถึงปัญหาในเมืองหลวงลำดับต้นไม่ว่าใคร จะบ่นถึงปัญหาจราจร ติดขัด ที่เป็นเช่นนี้เพราะปัจจุบันรถมีมากกว่าถนน หากเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนแล้วมองไปทางไหนอาจนึกไปได้ว่าตัวเองกำลังอยู่ภายในที่จอดรถไม่ใช่ถนน ที่มีรถเข้าแถวยาวเหยียด ประกอบกับถนนต่างๆ มีจุดตัดทางร่วมทางแยก จุดกลับรถมากเกินไป ขาดการเชื่อมถนนอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหารถจราจรนั้นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนทุกระดับชั้นเป็นลูกโซ่ที่โยงใยถึงกัน จากสภาพปัญหาจราจรที่หนักหนาของเมืองหลวง หากไม่มีโครงการแก้ปัญหาจราจรตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล ด้วยทรงห่วงใยประชาชน ต้องการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ทำให้การสัญจรของกรุงเทพมหานครดีขึ้นอย่างมากมาย ทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี พระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “หากสร้างสะพานยกระดับขาออกให้ยาวเลยไปจากขนส่งสายใต้ จะมีประโยชน์มาก” ขณะสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระประชวร ในหลวงร.9 เสด็จฯไปทรงเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ ได้ทอดพระเนตรจากชั้นสูงสุดของโรงพยาบาลศิริราช เห็นปริมาณรถที่รอขึ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเพื่อออกนอกเมืองไปตามถนนบรมราชชนนี มีปริมาณสะสมไปถึงถนนราชดำเนินยาวไปถึงถนนหลานหลวง ทรงร่างแผนผังด้วยลายพระหัตถ์ในการแก้ไขปัญหาจราจรพระราชทานไปยัง กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปศึกษาจนน้อมนำไปสู่โครงการพระราชดำริทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนีเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการจราจรจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจนถึงทางแยกตลิ่งชันถนนบรมราชชนนีทั้งขาเข้าและขาออก แม้ว่าโครงนี้จะทำให้รถคล่องตัวแต่กลับเกิดปัญหา “คอขวด” บริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจึงทรงให้สร้างสะพานเชื่อมต่อจากทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนีบริเวณแยกอรุณอัมรินทร์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าฝั่งพระนครโดยไม่ต้องผ่านถนนราชดำเนิน คือ สะพานพระราม 8 สะพานพระราม 8 ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ให้เชื่อมโยงการคมนาคมจตุรทิศตะวันออกและจตุรทิศตะวันตกเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ฝั่งพระนครข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านถนนอรุณอมรินทร์มาบรรจบกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี โดยไม่ต้องผ่านการจราจรบนถนนราชดำเนินเป็นการไม่เพิ่มความแออัดในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และโครงข่ายถนนใกล้เคียง  และพระราชทานนามว่า “สะพานพระราม 8” ขยายผิวจราจรโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นอีกจุดรถติดมากบนถนนราชดำเนิน คือ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่เดิมมีช่องจราจรเพียง 3 ช่องทางพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสให้ลดทอนฐานของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยลงด้านละ 1 เมตรและบูรณะอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้สง่างาม ทำให้มีช่องจราจรเพิ่มมาอีก 1 ช่องทาง ส่งผลให้การจราจรบริเวณโดยรอบคลี่คลายลงด้วย โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมถนนพระราม 9-ถนนเทียนร่วมมิตร ถนนประชาอุทิศและถนนเพชรบุรีตัดใหม่   “ถนนที่แน่นที่สุด คือ ถนน น่าเสียใจนะ ถนนชื่อถนนพระราม9 เราคือพระราม 9 ก็แย่ พระราม 9 มีแฟนมาก เมื่อมีแฟนมาก ถนนก็เต็ม แล้วเราก็แก้ไข” ในหลวงทรงแก้ปัญหาถนนแฟนมากนี้ด้วยการสร้าง “ถนนคู่ขนานย้อนเกล็ด” เป็นถนนคู่ขนานเป็นถนนสายรอง หรือทางลัด เชื่อมถนนพระราม 9 กับถนนสายหลักอื่นๆทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกและลดระยะเวลาการเดินจากถนนเทียนร่วมมิตรกับถนนพระราม 9 โดยไม่ต้องผ่านแยก อสมท.ไหลไปสู่ถนนโดยรอบ อาทิ ถนนลาดพร้าว ถนนรามคำแหง จนถึงถนนประดิษฐ์มนูธรรม โครงการก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก “ขอเถิดอนุสาวรีย์อย่างเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกวงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน” ทรงมีพระราชประสงค์ให้รัฐบาลจัดสร้างถนนเพิ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก และให้ใช้ชื่อถนนว่า “ถนนรัชดาภิเษก” ถนนเส้นนี้ทำให้เกิดความคล่องตัวในการสัญจรไปมาและแก้ปัญหาคอขวดบริเวณแยกประชาสงเคราะห์ บางพลัด วงศ์สว่าง ประชานุกูลวิภาวดีรังสิต รัชโยธิน ลาดพร้าว เพชรบุรีตัดใหม่ และเป็นจุดประกายในการสร้างถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร หรือถนนกาญจนาภิเษฏทั้งฝั่งตะวันออก-ตกและใต้ในเวลาต่อมา นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทรงห่วงใยประชาชน ยังมีโครงการอีกมากมายที่พระองค์ทรงให้แนวทางไว้ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นระบบและมีแบบแผน ทั้งก่อสร้างถนนใหม่ ปรับปรุงทางลัด ขยายช่องจราจรเพื่อเพิ่มผิวจราจรตลอดจนก่อสร้างถนนเพิ่มในลักษณะคู่ขนานกับแนวเดิม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้น ที่จะต้องจารึกไว้ว่าทรงคลายทุกข์ให้กับคนกรุงเทพฯให้สามารถผ่านวิกฤติจราจรให้เบาบางลง --------------------------------------------------------- โครงการตามแนวทางพระราชดำริของกรุงเทพมหานคร -โครงการแก้ปัญหาการจราจรฝั่งธนบุรี -โครงการก่อสร้างสะพานพระราม 8 โครงการขยายผิวจราจรโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย -โครงข่ายจตุรทิศตะวันตก-ตะวันออก -โครงการก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี -โครงการการขยายสะพานผ่านฟ้าลีลาศ -โครงการขยายสะพานคู่ขนานสะพานมัฆวานรังสรรค์ -โครงการขยายพื้นผิวจราจรหน้ากรมประชมสัมพันธ์(เดิม)หรือถนนหยดน้ำ -โครงการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ -โครงการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนรัชดาภิเษกบริเวณหน้าศาลอาญา -โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมบริเวณถนนพระราม 9 –ถนนเทียนร่วมมิตร ถนนประชาอุทิศและถนนเพชรบุรีตัดใหม่ -โครงการก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก