ปลัดเกษตรฯ แจง จำกัดการใช้ 3 สารตามประกาศกระทรวง ยังคงรอมติอย่างเป็นทางการของคกก.วัตถุอันตรายอยู่ ด้านผู้แทนเกษตรกรพึงพอใจคำชี้แจง เกษตรฯ เตรียมมาตรการช่วยเหลือและหาสาร-วิธีการทดแทน พร้อมชวนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ร่วมอบรมใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องและปลอดภัย เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในวันนี้มีผู้แทนเกษตรกรซึ่งปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล เข้าพบเพื่อสอบถามถึงแนวทางปฏิบัติของกระทรวงเกษตรฯ หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยชี้แจงว่า ยังไม่ได้รับหนังสือมติที่ประชุมอย่างเป็นทางการ ระหว่างนี้กระทรวงเกษตรฯ ต้องดำเนินมาตรการจำกัดการใช้ทั้ง 3 สารตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 20 ตุลาคม 2562 ซึ่งถือเป็นกฎหมาย ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้อบรมเกษตรกรไปเกือบ 500,000 คนและไม่ได้หยุดรับสมัครการอบรมหรือสอบเพื่อออกใบอนุญาตแก่เกษตรกรและผู้รับจ้างพ่นสารเคมีทางการเกษตรนอกจากนี้ยังได้อธิบายให้ผู้แทนเกษตรกรเข้าใจว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้ละเลยเกษตรกร ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ห่วงใยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทุกภาคส่วนจึงให้คณะทำงานของกระทรวงฯ เร่งวิเคราะห์และหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อไม่ให้ต้องรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค “กระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานปฏิบัติ ต้องรอมติอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะการที่ต่างฝ่ายพูดกันไปพูดกันมายิ่งเป็นประเด็นถกเถียง แต่ประเทศชาติไม่ได้อะไร จึงอยากให้ทุกฝ่ายลดอคติและรับฟังเหตุผลของกันและกันบ้าง ซึ่งผู้แทนเกษตรกรเข้าใจแล้ว”นายอนันต์กล่าว ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า จากการเข้าพบปลัดกระทรวงเกษตรฯ นั้น ผู้แทนเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้รับทราบถึงแนวทางปฏิบัติ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้งพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยเลื่อนระยะเวลาการพิจารณายกเลิกไป 6 เดือน ส่วนไกลโฟเซตจำกัดการใช้ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ เช่นเดิม จากนี้ไปจะเชิญชวนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดมาสมัครรับการอบรมหรือสอบเพื่อได้รับใบอนุญาตให้ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดจากกรมวิชาการเกษตร ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่แน่ใจว่า มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะเป็นอย่างไร จึงไม่มีใครมาอบรมเพิ่มเติม นอกจากนี้จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายทั้งการใช้ตามชนิดพืชที่กำหนด ใช้ในปริมาณที่ถูกต้อง ตลอดจนไม่ใช้ในพื้นที่ที่ห้ามไว้ เช่น พื้นที่ต้นน้ำต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งแก่เกษตรกรและประชาชนทุกคน