สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นับเป็นแหล่งเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวที่ทำให้คนทั้งประเทศได้สัมผัสถึงพระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาผืนดิน เริ่มต้นที่ ศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศ ป่าชายเลนสิรินาถราชินี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยน้ำพระราชหฤทัยของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทรงพลิกฟื้นนากุ้งร้าง ให้กลายเป็นป่าเขียวชอุ่มทั่วทั้งบริเวณ และเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน มาจนถึงทุกวันนี้ ศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศ ป่าชายเลนสิรินาถราชินี ขณะที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา สถานที่ซึ่งจากเดิมเป็นเขาหินซ้อนที่มีสภาพเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ได้ถูกเนรมิตให้กลับมาชุ่มชื้นอีกครั้ง ด้วยพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ควบคู่ไปกับศูนย์ศึกษาพัฒนาการเรียนรู้ จุดไฮไลท์เด่นๆ คือ พระตำหนักสามจั่ว บ้านพักรับรองของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จมาทรงงานที่ศูนย์ ห้องอบและนวดสมุนไพร สวนพฤกษศาสตร์ เดินชมพืชสมุนไพรและต้นไม้หายาก ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยเลี้ยงในพื้นที่โล่ง ปล่อยตามอิสระไม่กักขัง มีทั้งเป็ด ไก่ กวาง ม้า นกยูง นกกระจอกเทศ และชมกรรมวิธีผลิตข้าวตั้งแต่การสีข้าว จนบรรจุใส่กระสอบ ที่โรงสีข้าวพระราชทาน แล้วไปนั่งรับลมเย็นๆ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก ซึ่งถูกสร้างขึ้นตามแนวคิดของพ่อหลวง เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ทางการเกษตร และยามจำเป็น ฟื้นฟูผืนดินเป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจ ส่วน ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค จังหวัดสระบุรี เกิดขึ้นจากที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัยในกิจการฟาร์มโคนมของชาวเดนมาร์ก เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป และต่อมาได้มีการทำสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับเดนมาร์ก ในการจัดตั้ง ฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนม ไทย-เดนมาร์ค ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ถือเป็นฟาร์มนมวัวแห่งแรกในประเทศไทย และปัจจุบันยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย ด้าน โครงการชั่งหัวมัน จังหวัดเพชรบุรี เกิดจากมันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในอดีต จนเกิดเป็น โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นผลมาจากมันเทศที่พระองค์ทรงวางไว้บนตราช่างในห้องทำงาน ณ วังไกลกังวล เกิดแตกใบออก จึงมีพระราชดำริให้รีบจัดหาที่ดินเพื่อทำการเกษตร โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินจากชาวบ้านจำนวน 250 ไร่ ใจกลางหุบเขาแห้งแล้ง เพื่อฟื้นฟูเป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจ ของอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม และเป็นตัวอย่างโครงการด้านการเกษตร สร้างประโยชน์ด้านการทำเกษตร อีกทั้ง โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อยู่ใกล้กับสะพานภูมิพล 1 และ 2 มีสวนสุขภาพลัดโพธิ์ อยู่ใต้สะพาน จังหวัดสมุทรปราการ เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาคลองลัดโพธิ์ให้กลายเป็นทางระบายน้ำ มีช่องประตูระบายทั้งหมด 4 ช่อง ซึ่งจะเปิดประตูระบายน้ำทันทีเมื่อน้ำท่วมขัง และปิดประตูระบายน้ำเมื่อเกิดน้ำทะเลหนุนสูง ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ทั้งยังติดตั้งกังหันทดน้ำไว้เผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย ขณะที่ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี เป็นพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ ที่มีภาพทุกแง่มุมในพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตรของ รัชกาลที่ 9 จัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในโอกาสที่พระองค์ท่านทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก โดย เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดที่ยาวที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อสร้างประโยชน์ในด้านการทำการเกษตร แหล่งเพาะพันธุ์ปลา แก้ปัญหาดินเปรี้ยว การอุปโภคบริโภค แก้ปัญหาน้ำท่วม และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในย่ามหน้าแล้ง โดยเขื่อนนี้รับน้ำที่ไหลมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ผ่านน้ำตกเหวนรกลงสู่อ่างเก็บน้ำ และเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาชมวิวเหนือสันเขื่อน ถ่ายรูปเก๋ๆ ปั่นจักรยานชมวิวสวยๆ และสนุกกับกิจกรรมผจญภัยอีกมากมาย เช่น ขี่รถเอทีวี ไต่หน้าผา โรยตัว เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการในพระราชดำริข้างต้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงริเริ่ม ฟื้นฟู และพัฒนาขึ้นมา จนเกิดเป็นโครงการดีๆ และแหล่งท่องเที่ยวสวยๆ ให้ทุกคนได้เรียนรู้ สร้างเสริมประสบการณ์ ดังนั้นในวันหยุดนี้ลองวางโปรแกรมเดินตามรอยเท้าพ่อ รับรองได้ว่าจะความประทับใจไม่รู้ลืม