วันที่ 4 ธันวาคม 2562 ซึ่งตรงกันวันสิ่งแวดล้อมไทย ที่บริเวณป่าชุมชนบ้านม่วงชุม ตำบลบ้านครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้มีการจัดกิจกรรมสืบชะตาป่าม่วงชุม-ป่าชุ่มน้ำอิงโดยมีชาวบ้านกว่า 200 คนร่วมงาน ทั้งนี้ป่าม่วงชุมอยู่ติดกับแม่น้ำอิงโดยมีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้โดยมีควาหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างมากเนื่องจากในฤดูน้ำหลากเมื่อแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นจะหนุนให้แม่น้ำอิงเพิ่มสูงและท่วมป่าริมน้ำกลายเป็นพื้นที่แหล่งวางไข่และอนุบาลสัตว์น้ำโดยพบพันธุ์ปลาในพื้นที่ 103 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 8 ชนิด สัตว์ปีก 80 ชนิดและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 13 ชนิด นายเสง บัวติบ รองประธานป่าชุ่มน้ำบ้านม่วงชุม กล่าวว่าชาวบ้านต้องการเก็บพื้นที่ป่าแห่งนี้ไว้ให้กับลูกหลาน เนื่องจากในอดีตมีการตัดไม้เผาถ่านแต่ชุมชนไม่อยากให้มีการทำลายป่าอีกจึงร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าแห่งนี้ โดยชาวบ้านในหมู่บ้านได้ร่วมกันรักษาโดยตั้งกติกาของตัวเองตั้งแต่เมื่อกว่า 20 ปีก่อน โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่รัฐพยายามเข้ามาขุดลอก บางส่วนมาตัดไม้ แต่ในที่สุดคณะกรรมการฯมีมติให้หยุด “เราหาหน่อ หาเห็ดได้พึ่งพา หลายปีที่ผ่านมาน้ำไม่ท่วมป่า มีตัวหนอนเจาะทำให้ต้นไม้ตาย ทำให้เราหนักใจเพราะยังแก้ปัญหาไม่ได้ ตอนนี้เริ่มตายเยอะแล้ว”นายเสง กล่าว นายสายัณน์ ข้ามหนึ่ง รองผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่าจากการสำรวจป่าชุ่มน้ำแม่น้ำอิง พบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจ 2 ประการ ได้แก่ 1. มีต้นไม้ใหญ่จำนวนหนึ่งล้มตายเนื่องจากถูกหนอนเจาะเนื้อไม้ ซึ่งอาจเกิดจากภาวะแล้ง ที่น้ำจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำอิงไม่ไหลเอ่อท่วมเข้าสู่ป่าเหมือนในอดีต ซึ่งโดยปกติแม่น้ำอิงจะหลากเข้าท่วมบริเวณป่าเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ในช่วงปลายฤดูฝน สิงหาคม-ตุลาคม และเอ่อเข้าหนองน้ำต่างๆ เป็นแหล่งอาศัยและขยายพันธุ์ของปลานานาชนิด ที่อพยพมาจากแม่น้ำโขง แต่ในปีนี้ระดับน้ำโขงต่ำมาก ทำให้ไม่มีน้ำท่วมเข้ามาในป่าบ้านม่วงชุม ขณะที่ป่าชุมชนบ้านบุญเรืองซึ่งอยู่ริมแม่น้ำอิงเช่นกัน มีน้ำหลากเข้ามาในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 3-4 วัน ทำให้ไม่เกิดสถานการณ์ดังกล่าว 2. พบว่าชาวบ้านลุ่มน้ำอิงจับลูกปลาได้จำนวนมาก ทั้งในแม่น้ำอิง และหนองน้ำที่เชื่อมกับแม่น้ำอิง โดยเฉพาะปลาค้าว ขนาดประมาณ 100 กรัม ซึ่งคาดว่าลูกปลาเหล่านี้อพยพลงแม่น้ำโขงไม่ทัน เนื่องจากแม่น้ำอิงลดระดับอย่างรวดเร็ว สัมพันธ์กับแม่น้ำโขง “การสร้างพื้นที่อนุรักษ์ของชาวบ้าน ทั้งป่าและเขตรักษาพันธุ์ปลา ช่วยให้ปลา และสัตว์ต่างๆ ได้มีสถานที่หลบภัย และแพร่พันธุ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือผลกระทบจากการพัฒนาเขื่อนแม่น้ำโขงโดยภาพรวม ทั้งตอนบนในจีน และตอนล่างที่ไซยะบุรี ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเนื่องถึงลำน้ำสาขาและพื้นที่ชุ่มน้ำตลอดลุ่มน้ำโขง” รองนายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าว นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าววว่าการอนุรักษ์ป่าน้ำอิง เป็นงานความมั่นคงด้านทรัพยากร ซึ่งสร้างความอุดมสมบูรณ์แก่แม่น้ำโขงด้วย เป็นพื้นที่ขยายพันธุ์ปลาเติมให้แก่แม่น้ำโขง สิ่งต่างๆ ที่เกิดกับแม่น้ำโขงในเวลานี้ ทั้งระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ส่งผลโดยตรงกับลำน้ำสาขาเช่นแม่น้ำอิง ในฤดูน้ำหลากกลับไม่มีน้ำเข้าท่วม สิ่งเหล่านี้พบว่าเป็นผลกระทบโดยตรงจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบน พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้แม่น้ำมีชีวิต เป็นหัวใจของแม่น้ำ หากพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์แบบนี้หายไป ถูกทำลาย ไม่ว่าจะด้วยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือการไม่เข้าใจคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น “เวลานี้มีการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ 17 แห่งตลอดแม่น้ำอิง ร่วมกับ และการผลักดันสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง เป็นความพยายามในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำ เนื่องจากโดยปกติพื้นที่ลักษณะนี้ จะออกเอกสารเป็น นสล. ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพป่าที่ต้องได้รับการอนุรักษ์ นำไปสู่การเสนอโครงการต่างๆ อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ชุมชนจึงเร่งเสนอเพื่อให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในทันที เป็นรูปธรรมของสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ซึ่งพยายามสร้างและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวตลอดลุ่มน้ำอิง”นายนิวัฒน์ กล่าว นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย กล่าวว่า เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำอิงจากพะเยาจนถึงปากอิงที่เชียงของ เป็นการร่วมมือของชุมกว่า 60 แห่ง ใช้ศาสนพิธีกรรม และความรู้ท้องถิ่น ในการสร้างการมีส่วนร่วม การเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงตอนล่าง 7 แห่ง นำร่อง ให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ เป็นการยกระดับการยอมรับคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ และส่วนราชการ จากการได้พบกับ นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทสจ.)จังหวัดเชียงราย จะมีความร่วมมือเพื่อผลักดันเรื่องนี้ต่อไป