"ตั๊น จิตภัสร์" ยืนวาระด่วนเข้า กมธ.การสวัสดิการสังคม เร่งประสาน ช่วยเหลือ สวัสดิการนักเรียน ครู โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สรุปทางแก้ปัญหา 4 เรื่องทั้ง งบอาหาร-สถานะทางทะเบียน-ยานพาหนะ และน้ำสะอาด เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร โฆษกคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นหนังสือต่อนางสาวรังสิมา รอดรัศมี ประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร บรรจุวาระการพิจารณาสวัสดิการของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เข้าในการประชุมของคณะกรรมาธิการ โดยวันนี้ได้มีการประชุม ณ ห้องประชุม หมายเลข 409 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ซึ่งมี พล.ต.ท.วิชิต ปักษา ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ผบช.ตชด.) ผู้แทนของปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเข้าร่วมการประชุมเข้าร่วมการประชุม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีจำนวนทั้งสิ้นรวม 218 โรงเรียน มีนักเรียนทั้งสิ้นจำนวน 26,417 คน นักเรียนส่วนใหญมีฐานะยากจน ด้อยโอกาส ประสบปัญหาภาวะโภชนาการ และสุขภาพอนามัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและการเรียนรู้ของเด็ก นอกจากนี้ โรงเรียนดังกล่าวยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาและสวัสดิการสังคมที่เพียงพอ ทั้งในเรื่องของสวัสดิการของนักเรียนและงบประมาณของบุคลากร เพื่อความเท่าเทียมและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ในการประชุมในวันนี้ คณะกรรมาธิการได้นำข้อสงสัย และปัญหาต่างๆ โดยได้รับการชี้แจงและแก้ไข ปัญหาสรุปได้เป็น 4 ประเด็น คือ 1.เรื่องงบประมาณค่าอาหารของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในส่วนของวันหยุดเสาร์–อาทิตย์ เนื่องจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จะได้รับงบประมาณค่าอาหารเป็นจำนวน 200 วัน/ปี ซึ่งเป็นวันทำการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าอาหารสำหรับนักเรียนกินนอนประจำโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งคณะกรรมาธิการเห็นควรให้ ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ดำเนินการของบประมาณให้ครอบคลุมทั้งปีเพื่อให้นักเรียนมีงบประมาณเพียงพอ 2.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ควรกำหนดแนวทางในการดำเนินงานของโรงเรียนให้เกิดความชัดเจนเพื่อขอจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการของโรงเรียน เช่น การจัดหายานพาหนะเพื่อใช้ในกิจกรรมของโรงเรียน งบประมาณสำหรับการบำรุงรักษาอาคารสถานที่ นอกเหนือจากการรอการจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นคง 3.สถานะทางทะเบียนของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยนางสาวรังสิมา รอดรัศมีประธานคณะกรรมาธิการ ได้มีข้อห่วงใยในประเด็นดังกล่าว โดยเสนอให้ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ช่วยเร่งรัดสำรวจให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนหรือยังไม่มีสถานะทางทะเบียน ได้มีบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง และ4.ปัญหาน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน คณะกรรมาธิการได้มีข้อห่วงใยในปัญหาดังกล่าวเพื่อหากน้ำที่ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคไม่มีคุณภาพจะส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของผู้บริโภค ซึ่งในประเด็นนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอจะเร่งดำเนินการให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มีเครื่องกรองน้ำที่มีคุณภาพเพื่อใช้งานให้ครบทุกโรงเรียนต่อไป ท้ายสุดทางคณะกรรมาธิการได้เสนอให้มีการพัฒนาความรู้ให้แก่ครูของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ส่งเสริมครูผู้สอนให้มีความรู้เพิ่มเติมเพื่อสามารถนำความรู้มาพัฒนาการเรียนการสอนให้กับเด็กนักเรียน และในขณะเดียวกันจะต้องสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพครูของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อเป็นการรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพให้ยังคงปฏิบัติงานต่อไป