สรท.ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปี 62 ติดลบร้อยละ 2.5-3 รับไม่มีปัจจัยบวกมีแต่ลบเจอทั้งสงครามการค้า-บาทแข็งค่า-ประท้วงในฮ่องกง จี้แบงก์ชาติดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าไปมากกว่านี้ ส่วนปี 63 คาดส่งออกไม่โตหรือโตเล็กน้อยร้อยละ 1 น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)เปิดเผยว่า สรท.ปรับคาดการณ์การส่งออกปี 2562 ใหม่ คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 2.5 ถึงติดลบร้อยละ 3 อยู่บนสมมติฐานว่าค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 33 บาท บวกลบ 0.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนปี 2563 คาดการณ์ว่าจะเติบโตร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 1 บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ไม่พบปัจจัยบวก สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก ด้านปัจจัยต่างประเทศ เรื่องสงครามการค้ายังมีความกังวลต่อท่าทีในการลงนามเฟสที่ 1 เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่ไม่สามารถตกลงร่วมกันได้เช่น การสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯและทรัพย์สินทางปัญญา ประกอบกับสหรัฐฯประกาศสนับสนุนผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ซึ่งเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนโดยตรงและหากไม่สามารถตกลงกันได้ สหรัฐฯอาจปรับเพิ่มภาษีตามกำหนดการเดิมคือ วันที่ 15 ธ.ค.62 มูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในอัตราภาษีร้อยละ 15 ขณะที่จีนขอให้สหรัฐฯพิจารณาลดภาษีสำหรับสินค้าที่มีการปรับขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยปัจจัยที่ 2 มาตรการ IMO Low Sulphur 2020 จะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.63 ส่งผลให้เรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเริ่มออกประกาศอัตราเรียกเก็บเพิ่มค่า Bunker Surcharge ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของค่าระวางในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและกระทบต่อต้นทุนโดยรวมของผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า ส่วนปัจจัยที่ 3 ปัจจัยในประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง เนื่องจากเงินบาทยังคงถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นเดียวกับค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการชะลอตัวภาคการส่งออกทุกกลุ่มสินค้า ปัจจัยที่ 4 เศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวเห็นได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ไตรมาส 3 ปีนี้ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.6 ขณะที่ปัจจัยที่ 5 แนวโน้มการเรียกเก็บภาษี ซึ่งเป็นต้นทุนผู้ประกอบการมีมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐต้องการเพิ่มรายได้สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ปัจจัยที่ 6 กฎหมายและมาตรการภาครัฐที่กำหนดเพิ่มเติมในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว นับเป็นการลดทอนความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออก อาทิ แนวคิดการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การแบนสารเคมีการเกษตรการเรียกเก็บภาษีความหวานและความเค็ม โดย สรท.มีข้อเสนอแนะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรบริหารจัดการค่าเงินบาทด้วยมาตรการที่เข้มข้นไม่ให้เงินบาทแข็งค่าไปมากกว่านี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมสรรพากรต้องสนับสนุนรูปแบบการชำระค่าใช้จ่ายเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯเป็นเงินบาท เพื่อลดความสูญเสียจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน ทางกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลังควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการพลิกฟื้นการส่งออกในฐานะกลไกสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ และภาครัฐควรสนับสนุนผู้ประกอบการในเรื่องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานให้เป็นพลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือก เป็นต้น ทั้งนี้ สรท.มีความกังวลต่อการชะลอตัวของการส่งออกไทย เนื่องจากเป็นเครื่องจักรสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากการส่งออกชะลอตัวหรือหดตัวจะทำให้เกิดผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นลูกโซ่เช่น การผลิตลดลงจะส่งผลต่อการจ้างงานและรายได้ครัวเรือน ค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับรายรับที่ลดลงจะทำให้เม็ดเงินที่กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจน้อยลง มีเงินหมุนเวียนสำหรับการบริโภคภาคเอกชนลดลง ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการชะลอตัวของจีดีพีในที่สุด จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการส่งเสริมผู้ประกอบการและสินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก