จากกรณีเกิดปรากฏการณ์น้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีฟ้าคล้ายน้ำทะเลหรือสีครามสวยงาม สร้างความตื่นตาแก่ผู้ที่ได้พบเห็น จนหลายพื้นที่ได้หยิบยกความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาโปรโมตเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม นักสิ่งแวดล้อมและนักวิชาการที่ติดตามศึกษาระบบนิเวศลำน้ำโขงกลับมองถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่าเป็นความผิดปกติที่นำไปสู่ผลกระทบมากมายต่อสิ่งมีชีวิตในลำน้ำนานาชาติสายใหญ่สายนี้ ล่าสุด ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคามและผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า... โขงเปลี่ยนสี สูญสิ้นแล้วราชาแห่งสายน้ำธรรมชาติของสีน้ำของแม่น้ำโขงคือสีปูนเสมอ จะมีบ้างในหน้าแล้งที่น้ำลดมาก น้ำโขงจะสีจาง แต่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ที่สีของน้ำเป็นสีครามคล้ำดังที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้สีปูนคือความอุดมสมบูรณ์ และเต็มไปด้วยปลานานาชนิด ไม่ต่ำกว่า 1,300 ชนิด และชาวประมงก็ได้ใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านในการจับปลา การสร้างเขื่อนไซยะบุรีได้กักตะกอนที่เป็นความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ การปล่อยน้ำลงมาทางเทอร์ไบน์ซึ่งอยู่เหนือท้องน้ำจึงมีแต่น้ำที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ขณะที่ท้ายเขื่อน น้ำมีน้อยไม่ความเร็วของกระแสน้ำก็น้อย ไม่เหมือนธรรมชาติ เมื่อเขื่อนหยุดปล่อยน้ำเพื่อปั่นไฟ น้ำจะลดลง และตะกอนที่ยังจะพอมีบ้างก็ตกตะกอนตามแก่งและหาดทรายท้ายเขื่อน ก็ยิ่งทำให้น้ำในแม่น้ำโขงขาดความอุดมสมบูรณ์ การหายไปของตะกอนจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ไม่เพียงแต่ปลา แต่รวมถึงสัตว์น้ำทุกชนิด และผลกระทบนี้จะยาวไกลนับพันกิโลเมตร ไปจนถึงทะเลปากแม่น้ำโขง ขณะที่น้ำที่ขาดตะกอน กลายเป็นน้ำหิวตะกอน และจะส่งผลให้ตลิ่งพังที่ยากจะแก้ไขได้ น้ำโขงเปลี่ยนสีจึงเป็นอันตราย ไม่ใช่ความงดงาม แต่คือหายนะ ของสายน้ำที่ใหญ่ที่สุดในอุษาคเนย์ที่ได้ชื่อว่าราชาแห่งสายน้ำ ในภาพ แม่น้ำโขงในอดีตก่อนมีเขื่อนไซยะบุรี ช่วงปลายฤดูฝนที่เชียงคาน จ.เลย ภาพเช่นนี้จะกลายเป็นอดีตที่ไม่มีวันหวนคืน ยกเว้นเราจะช่วยกันรณรงค์ให้เลิกใช้เขื่อนไซยะบุรี