“ดีแทค”ชง“กสทช.”เลื่อนประมูลคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ รอประมูลพร้อมคลื่น 3500 เมกะเฮิร์ตซเพื่อใช้งาน 5G มีประสิทธิภาพ ระบุราคาเริ่มต้นสูงเกินไป นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน)หรือ ดีแทค เปิดเผยว่า การประมูลคลื่นความถี่ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจานเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)นั้น หากถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม และจัดขึ้นตามกรอบเวลาอันสมควรจะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การให้บริการ 5G อย่างมีประสิทธิภาพ ดีแทคสนับสนุนการประมูลคลื่นแบบหลายย่านความถี่พร้อมกัน (Multiband auction) ทั้งนี้ในการเข้ารับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน 700,1800, 2600เมกะเฮิร์ตซและ 26 กิกะเฮิร์ตซ ทั้งนี้ ดีแทคจะยื่นข้อเสนอแนะต่อ กสทช.มี 3 ประเด็นคือ 1.เวลาในการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อรอความชัดเจนคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิร์ตซ แล้วนำมาประมูลพร้อมคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ เพราะมีคุณสมบัติที่ทดแทนกันได้ และในหลักปฏิบัติสากล และควรกำหนดเพดานการถือครองจำนวนคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซที่มีการกำหนดการถือครอง 190 เมกะเฮิร์ตซดีแทคเห็นว่าควรมีการกำหนดเพดานในการถือครองเพื่อป้องกันการบิดเบือนของตลาดและกระจายการถือครองของผู้ให้บริการ เช่น เพดานการถือครองที่ 60 เมกะเฮิร์ตซสำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 3 ราย,80เมกะเฮิร์ตซสำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย และ 100 เมกะเฮิร์ตซสำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 2 ราย 2.การกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่สูงเกินไป ซึ่งจากร่างประกาศการประมูล กำหนดให้คลื่น 2600เมกะเฮิร์ตซมีราคาเริ่มต้นที่ 1,862 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต (10เมกะเฮิร์ตซ) ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าค่ากลางของสากล ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายโครงข่าย ขณะที่คลื่น 1800เมกะเฮิร์ตซซึ่งมีราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 12,486 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต มีราคาสูงกว่าราคาสุดท้ายในการประมูลของประเทศอื่นๆหลายเท่าตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดความล้มเหลวในการประมูลได้ โดยข้อมูลจากสมาคมจีเอสเอ็ม ระบุว่า ราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่น 1800เมกะเฮิร์ตซในปี พ.ศ.2561 และ พ.ศ.2563 มีราคาสูงกว่าตลาดโลกอย่างมาก และดีแทคไม่มีเงินเหลือมาซื้อคลื่นเยอะแยะ คงต้องเลือกคลื่นที่เหมาะสมที่สุด 3.วิธีการประมูลควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยจากร่างประกาศฯกำหนดให้ใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นการกำหนดตามคุณลักษณะทางเทคนิคของคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น วิธีการประมูลจึงจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาใหม่ เพื่อให้สอดรับกับคุณสมบัติทางเทคนิคของคลื่นย่านอื่น ส่วนการวางหลักประกันการประมูล ดีแทคอยากให้กำหนดคุณสมบัติของผู้ร่วมประมูลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเกณฑ์ในการวางหลักประกันทางการเงินจากผู้เข้าประมูลทุกราย ทั้งนี้การทำให้ 5G เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เพียงบทบาทของผู้ประกอบการโทรคมนาคมเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรกำกับดูแลและผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะยังไม่ได้รับประโยชน์จากครอบครองคลื่นความถี่สำหรับเทคโนโลยี 5G โดยการใช้งานจริง(use case)ยังต้องได้รับการพัฒนาและคำนึงถึงโมเดลในการหารายได้ที่ยังคงไม่มีความชัดเจน ภาครัฐจึงมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในเชิงกลยุทธ์ที่จะกระตุ้นการลงทุนเชิงโครงสร้าง ความร่วมมือจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนสู่เทคโนโลยี 5G