สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอรายงานว่า ช่วงนี้มีข่าวพร้อมคลิปที่แชร์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ อ้างว่าฝ่ายการศึกษาของบีอาร์เอ็น ขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้มีโอกาสขึ้นกล่าวในเวทียูเอ็น ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์กันอย่างมากว่าเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นได้อย่างไร คลิปที่ถูกแชร์ เป็นภาพจากการประชุมที่อ้างว่าเป็นการประชุมของสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น และยังอ้างด้วยว่า ผู้ที่พูดอยู่ในคลิป คือ นายฮาซัน ยามาดีบุ เป็นฝ่ายการศึกษาของกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยข้อมูลและคลิปที่แชร์กันระบุว่า นายฮาซันได้รับเชิญขึ้นกล่าวในเวทียูเอ็น จากนั้นก็มีกระแสวิจารณ์ว่ารัฐบาลไทยปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือนี่คือความพ่ายแพ้ของไทยในแวทีต่างประเทศต่อกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า ข้อมูลที่แชร์กันนั้นไม่เป็นความจริง โดย นายฮาซัน ยามาดีบุ ไม่ใช่ฝ่ายการศึกษาของบีอาร์เอ็น แต่เป็นประธานกลุ่มบุหงารายา องค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องภาษาและวัฒนธรรมมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนการประชุมที่ปรากฏในคลิป เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคงให้ข้อมูลว่า เป็นการประชุมในวาระ Session of the Forum on Minority Issues ของ OHCHR หรือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จัดขึ้นที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่าง 28-29 พ.ย.62 โดยในปีนี้เป็นหัวข้อ "Education, Language and the Human Rights of Minorities" การประชุมนี้เป็นการประชุมแบบเปิด โดยให้ผู้ที่สนใจเข้าประชุมสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้ และผู้ที่ประสงค์จะเป็น speaker หรือพูดแสดงความคิดเห็นในการประชุม ก็สามารถลงทะเบียนเพื่อร่วมพูดได้ด้วย "ทีมข่าวอิศรา" ยังได้ติดต่อกับนายฮาซัน ประธานกลุ่มบุหงารายา ซึ่งเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ยังอยู่ที่เจนีวา โดยนายฮาซัน บอกว่า ได้นำประเด็นวิกฤติภาษามลายูขึ้นพูดในเวทียูเอ็น ซึ่งเป็นเวทีว่าด้วยเรื่องชนกลุ่มน้อย และเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้พูดถึงนโยบายสาธารณะของแต่ละประเทศเกี่ยวกับด้านการศึกษาและการสอนภาษาของชนกลุ่มน้อย โดยวันที่พูดและปรากฏในคลิป คือวันที่ 28 พ.ย. สำหรับเนื้อหาที่พูด ก็ได้บอกว่าตนเองมาจาก "ปาตานี" ซึ่งอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย เป็นชุมชนมลายูมุสลิมขนาดใหญ่ที่มีอัตลักษณ์และภาษามลายูยาวีเป็นของตัวเอง ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่พัฒนาน้อยที่สุดของประเทศ แต่ชุมชนมีการสร้างระบบการเรียนเพื่อสอนภาษาและวัฒนธรรมแก่เด็กและเยาวชน แต่การสอนภาษามลายูไม่ได้มีหลักสูตรการสอนในโรงเรียนของรัฐ นายฮาซัน ยังบอกอีกว่า สิ่งที่ได้พูดบนเวทีคือย้ำว่าภาษามลายูยาวีกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ เพราะนโยบายการผสมกลืนกลายของรัฐไทย เช่น ในอดีตเคยมีการบังคับเปลี่ยนชื่อให้เป็นภาษาไทย รวมทั้งไม่มีนโยบายส่งเสริมหรือรักษาภาษามลายู แต่กลับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยในโรงเรียนตาดีกา ทั้งยังแทรกแซงหลักสูตรการเรียนการสอน และยังพยายามทำให้ใช้ตัวอักษรไทยในการสะกดคำภาษามลายูด้วย นอกจากนั้นในปัจจุบัน สถานศึกษาเหล่านี้ (ปอเนาะ ตาดีกา) กลับอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น เพราะถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ว่าเป็นสถานที่บ่มเพาะและสอนเรื่องการใช้ความรุนแรง จึงเป็นเหตุให้ครูตาดีกาหลายคนถูกจับ และทหารก็ถูกส่งไปยังโรงเรียน ทำให้โรงเรียนเหล่านี้กลายเป็นเป้าหมายของการถูกโจมตี เขาสรุปว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ยากที่จะพัฒนาภาษาและอัตลักษณ์มลายู จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยคือ 1. จะต้องยุติการใช้นโยบายผสมกลืนกลาย 2. โรงเรียนต้องไม่ใช่สถานที่ปฏิบัติการทางทหาร 3. โรงเรียนตาดีกาและปอเนาะจะต้องมีโอกาสได้ออกแบบหลักสูตรในเรื่องภาษามลายูอย่างเป็นอิสระ จากคำสัมภาษณ์ของนายฮาซัน ก็เคลียร์กันชัดๆ ว่าไม่มีตัวแทนบีอาร์เอ็นไปขึ้นพูดในเวทียูเอ็นตามที่มีกระแสข่าวลือ แต่สิ่งที่องค์กรภาคประชาสังคมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้นำไปพูดบนเวที โดยเฉพาะนโยบายผสมกลืนกลาย และการไม่ส่งเสริมหรืออนุรักษ์ภาษามลายูยาวี ก็เป็นประเด็นที่รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศต้องออกมาสร้างความกระจ่างต่อไป