ข่าวการเสียชีวิตล่าสุดของนักร้องวัยรุ่น คิว ที่เลือกจบชีวิตก่อนวัยควร ด้วยโรคซึมเศร้า เป็นอีกหนึ่งชีวิตที่ตอกย้ำ ถึงโรคซึมเศร้าที่ควรต้องระวัง และดูแลสอดส่องคนในครอบครัว ก่อนจะสาย.. . เฟซบุ๊ก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย โดย#หมอเบิ่นนี่ ได้ให้ความรู้เรื่องของโรคซึมเศร้า โดยระบุ "อารมณ์ซึมเศร้า" เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ ในชีวิตเราทุกคนล้วนมีช่วงเวลาเศร้าบ้าง ทุกข์ใจบ้างเป็นธรรมดา แต่เมื่อไหร่ล่ะ เราถึงจะบอกว่า ความเศร้านี้ ไม่ใช่ปฏิกิริยาทางใจธรรมดาเสียแล้ว แต่คือ "โรคซึมเศร้า" โรคซึมเศร้า ประกอบด้วยอาการดังนี้ 1.อารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด ไม่สดชื่น มีอาการเกือบตลอดวัน 2.ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง สิ่งที่เคยชอบ ก็ไม่สนใจ เบื่อหน่ายไปหมด 3.เบื่ออาหาร น้ำหนักลด กินน้อยลง หรือ บางคนอาจเป็นแบบตรงข้ามคือ กินจุมากขึ้น น้ำหนักเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 5 ใน 1 เดือน 4.นอนไม่หลับ นอนได้น้อยลง หรือตรงข้ามกลายเป็น นอนมากขึ้น นอนทั้งวัน 5.เชื่องช้า ทำอะไรก็เชื่องช้าไปหมด หรืออาจเป็นตรงข้ามกระวนกระวายกว่าปกติ 6.อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง 7.ตำหนิตัวเอง รู้สึกตัวเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดง่ายกว่าปกติ ***ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่พบได้มากในคนเป็นโรคซึมเศร้า 8. สมาธิเสีย ทำอะไร ไม่ค่อยมีสมาธิ รู้สึกลังเล สงสัยมากขึ้นกว่าปกติ 9. คิดเรื่องฆ่าตัวตาย หรือ อยากฆ่าตัวตาย *** ซึ่งข้อนี้สำคัญมาก หากมีการพยายามฆ่าตัวตาย ตั้งข้อสันนิษฐานว่า คนนั้นอาจเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งอาการที่กล่าวมาไม่จำเป็นต้องมีครบถึงบอกได้ว่าเป็นโรคซึมเศร้า เพียงแค่มีอย่างน้อย 5 อาการ และ ต้องเป็นต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป สงสัยได้แล้วว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่น่ากลัว รักษาหายได้ และยิ่งมารักษาแต่ต้นๆ จะยิ่งได้ผลดี สำหรับสาเหตุนั้น ทางการแพทย์ว่าเกิดจากสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เสียสมดุลคือ สารที่ชื่อว่า serotonin และ norepinephrine การรักษา โดยจิตแพทย์ มีทั้งกินยาต้านเศร้า ด้วยโรคนี้เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองด้านอารมณ์เศร้าที่เสียสมดุลไป จึงทำให้เกิดซึมเศร้ามากผิดปกติ เรียกว่าเป็นโรคที่น่าจะทรมานมาก เพราะทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากเศร้าอะไรมาก แต่มันเศร้าเอง ห้ามไม่ได้ ซึ่งยาจะเข้าไปปรับช่วยให้สารเคมีในสมองกลับมาสมดุลได้ และอารมณ์ก็จะกลับกลายมาเป็นปกติ และเรียกว่าเป็นความโชคดีของคนยุคนี้ เพราะได้มีการพัฒนายาต้านเศร้าตัวใหม่ๆ ออกมามากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผลข้างเคียงน้อยลง และหากกินยาแล้วมีผลข้างเคียงให้แจ้งแพทย์ที่รักษาเพื่อปรับยาใหม่ รวมทั้งการรักษาทางจิตใจ เช่นทำจิตบำบัด ปรับวิธีคิด หรือแก้ปมในใจ ซึ่งจะเป็นการรักษาควบคู่กับกินยาต้านเศร้า เป็นการบำบัดร่วมเพื่อช่วยให้การรักษาได้ผลมากขึ้น ด้วยกายและใจ มีผลต่อกัน หรือการรักษาในโรงพยาบาล ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงฆ่าตัวตาย เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติ ไม่อยากอยู่แล้วโลกนี้ เพราะเพียงเสี้ยววินาที ของคนที่มีอาการซึมเศร้าหนัก นั่นหมายถึงชีวิต ขณะที่การดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคนี้ จึงไม่ควรตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต เพราะโอกาสพลาดสูงมาก เพราะสภาพอารมณ์ไม่ปกติ, ไม่ควรคิดอะเรมากๆ ยาวๆ, ให้หากิจกรรมสบายๆ ทำ ไม่เครียดไม่กดดัน รวมทั้งอย่ากดดันตัวเองให้ต้องรีบหาย สำหรับญาติ อย่าเร่งรัดคาดหวังให้คนป่วยรีบหาย เพราะยิ่งจะไปสร้างความกดดัน โดยให้ดูแลถูกวิธี กินยา พาพบหมอสม่ำเสมอ ทั้งเป็นกำลังใจให้ โดยเปลี่ยนจากความคาดหวัง เป็น ความเข้าใจ จะช่วยผู้ป่วยได้มากกว่า , ค่อยๆ ชวนทำกิจกรรมที่สบายๆ ไม่กดดัน แต่ต้องระมัดระวัง อย่าคะยั้นคะยอ หากคนป่วยไม่พร้อม จากความหวังดีจะกลายเป็นกดดันโดยไม่รู้ตัว เฝ้าระวังเรื่องคิดฆ่าตัวตาย หากคนป่วยเริ่มคิด โดยเก็บอาวุธที่อาจเป็นอันตราย ดูแลใกล้ชิด และพามาพบหมอก่อนนัดได้ ทั้งนี้ ที่สุดแล้วด้วยความรัก ความเข้าใจ และ การดูแลรักษาอย่างถูกวิธี จะช่วยให้ผู้ป่วย และ ญาติผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้ ขอบคุณ เฟซบุ๊กสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย