เป็นสิ่งที่ต้องจับตาแบบไม่กระพริบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง ที่จะสามารถกระตุ้นการบริโภคให้ประชาชนออกไปจับจ่ายใช้สอย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงให้นักลงทุนเข้ามามากขึ้นได้หรือไม่ ท่ามกลางสภาวะความวุ่นวายทางการเมืองที่ระหอง ระแหง และการตกต่ำของเศรษฐกิจโลกที่เป็นปัจจัยท้าทายภายใต้การทำงานของรัฐบาล “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทั้งนี้หนึ่งในขุนพลที่ “ลุงตู่” ไว้วางใจในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกแรงคิดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้คนในสังกัดที่ตนเองพอจะกำกับได้ 2 คน คือ “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นอกนั้นแม้จะอยู่ภายใต้พรรคการเมืองเดียวกัน หรือพรรคร่วมรัฐบาล ก็ไม่สามารถไปชี้นำ หรือ สั่งการได้ ซึ่งแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า การดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศมีความเกี่ยวข้องกันมากกว่าการส่งออก ประกอบด้วยค่าครองชีพ การเบิกจ่ายภาครัฐ รวมทั้งการช่วยเหลือเกษตรกร เป็นต้น ฉะนั้นเครื่องยนต์เหล่านี้ทุกตัวจะต้องเดินไปข้างหน้า ขณะที่การดูแลเศรษฐกิจอีกด้านนั้นจะต้องไปถามรายละเอียดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหน่วยงานอื่นก็พยายามทำกัน ซึ่งแต่ละกระทรวงก็มีหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแตกต่างกัน เช่น กระทรวงการคลังไม่ได้มีหน้าที่ดูแลเรื่องการส่งออก แต่ก็ยังมีการหารือร่วมกันต่อเนื่อง สำหรับที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของการท่องเที่ยว การส่งออก พร้อมกันหลายๆ ทาง แต่ขณะนี้มาตรการที่ออกมาในช่วงนี้เหมือนทำขาเดียว คาดว่าจะพอหรือไม่ เนื่องจากมองว่าไม่เป็นเอกภาพในการดูแลเศรษฐกิจ นายสมคิด กล่าวว่า ที่ผ่านมามีทั้ง 4 ขา ตอนนี้มีขาเดียว จากกระทรวงการคลังเท่านั้น อย่างไรก็ดี ทุกอย่างยังทำงานร่วมกัน ส่วนรายละเอียดของการออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจในแต่ละด้านนั้น จะต้องถามจากทุกกระทรวง ขณะที่มีกระแสข่าวระบุว่าไทยมีความเสี่ยง 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจฟองสบู่ 2.ความล้มเหลวรัฐบาล 3.การโจมตีไซเบอร์ 4.ภัยพิบัติทางธรรมชาติและโดยมนุษย์ 5.ความไม่มั่นคงทางสังคมนั้น นายสมคิด กล่าวยืนยันว่า ไทยยังไม่เกิดภาวะฟองสบู่ หรือวิกฤติทางเศรษฐกิจตามข่าว แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการประเมินจากภาคเอกชนที่มองความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นใน 10 ปีข้างหน้า ของรายงานความเสี่ยงระดับภูมิภาคในการประกอบธุรกิจ หรือ Regional Risk of Doing Business 2019 ซึ่ง ปัจจัยทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันโดยเฉพาะ ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ในขณะนี้ยังมีกำลังซื้อ โดยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการชิมช้อปใช้ ด้าน “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการที่เตรียมไว้กระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องดูในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านที่มีความจำเป็น เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน ขณะเดียวกันก็จะต้องช่วยให้ประชาชนเข้าถึงในสิ่งที่ดี ส่วนเรื่องของการลงทุนของผู้ประกอบการดูแลกันทั้งรายกลางและรายเล็กก็ยังเป็นประเด็นอยู่ ซึ่งหากจะออกมาตรการก็จะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม อย่างไรก็ดี จะออกมาตรการมาดูแลเศรษฐกิจในรูปแบบใดนั้น ขอให้ขั้นตอนเรียบร้อยก่อน ซึ่งจะมีการชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง “การติดตามการประเมินเศรษฐกิจนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังก็มีการติดตามและประเมินเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การปฏิบัติงานในเชิงออกมาตรการอื่นๆ จะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง อย่างไรก็ดี มีการหารือร่วมกันในคณะรัฐมนตรี (ครม.)เศรษฐกิจ ทั้งเรื่องของการส่งออก การดูแลการบริโภค เพียงแต่ในทางปฏิบัติก็ต้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำหน้าที่ไป” นายอุตตม กล่าว ส่วน “ลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า หนึ่งในมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจที่โดดเด่นขณะนี้ คือ มาตการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิม ช้อป ใช้” ปัจจุบันมียอดการใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” รวมทั้งสิ้น 14,839 ล้านบาท แบ่งเป็นกระเป๋าเงินช่องที่ 1 ซึ่งให้เงิน 1,000 บาท มียอดใช้จ่าย 11,596 ล้านบาท ส่วนกระเป๋าเงินช่องที่ 2 ซึ่งมีการคืนเงิน (Cash Back) สูงสุด 20% หากมีการใช้จ่ายถึง 50,000 บาท โดยจะคืนเงินสูงสุด 8,500 บาทนั้น มียอดใช้จ่ายแล้ว จำนวน 3,243 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดใช้จ่ายในกระเป๋าช่องที่ 2 พุ่งขึ้นมาอยู่ที่วันละ 250 ล้านบาท จากเดิมมียอดใช้จ่าย 10 ล้านบาทต่อวัน ถือว่ายอดใช้จ่ายเติบโตมากที่สุดตั้งแต่เริ่มโครงการ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ยอดใช้จ่ายเติบโตขึ้นมาก เพราะกระทรวงการคลังดึงร้านค้า โรงแรมระดับห้าดาวเข้าร่วมโครงการมากขึ้นเพื่อจูงใจ “ปัจจุบันมีคนใช้เงินในกระเป๋าเงินช่องที่ 2 เกินวงเงิน 50,000 บาท ประมาณ 2,000 คน หรือคิดเป็นเงิน 115 ล้านบาท ส่วนชิม ช้อป ใช้เฟสที่ 3 ที่เพิ่งให้เริ่มใช้เงินในวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ก็มียอดใช้จ่ายในกระเป๋า 2 แล้วกว่า 40 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี” อย่างไรก็ตาม หากคงระดับการใช้จ่ายกระเป๋าเงินช่องที่ 2 ไว้ประมาณ 250 ล้านบาทต่อวัน ในช่วงเวลาอีก 2 เดือนก่อนจะสิ้นสุดโครงการในเดือน ม.ค.2563 จะมีเงินหมุนเวียนในกระเป๋าเงินช่องที่ 2 รวมกว่า 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ในเดือนหน้าจะมีวันหยุดยาวหลายวัน น่าจะทำให้คนใช้เงินในกระเป๋า 2 เพิ่มมากขึ้น และอาจจะทำให้ยอดใช้จ่ายแต่ละวันทะลุ 250 ล้านบาท “ชิม ช้อป ใช้จะมีกี่เฟสไม่สำคัญ เพราะระบบในชิม ช้อปใช้เดินหน้าไปแล้ว ส่วนถ้าหากปรับส่วนใดแล้วดีต่อโครงการก็จะรีบปรับ ส่วนการลงทะเบียนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในชิม ช้อป ใช้เฟส 3 ที่กระทรวงการคลังจำกัดจำนวนผู้ลงทะเบียนไว้ 500,000 คน ซึ่งเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนในวันแรกตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.เป็นต้นไป เวลา 08.00-18.00 น.นั้น ปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนทั้งหมดแล้ว 196,889 คน และยังเหลือสิทธิลงทะเบียนอีกกว่า 300,000 คน เป็นที่ต้องรอลุ้นกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะนำพาประเทศรอดพ้นจากวิกฤติได้หรือไม่! นับถอยหลัง.....จับตามองกันให้ดี!!!