ศาลสั่งปรับบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ฯ จำเลยที่ 1 กว่า 1,225 ล้านบาท ในคดีหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่อันเป็นเท็จ ส่วนจำเลยที่ 2-8 ยกฟ้อง เนื่องจากเป็นลูกจ้างที่ลงรายมือชื่อตามหน้าที่ เจ้าตัวและทีมทนายเตรียมยื่นอุทธรณ์ วันนี้ (29 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีเลี่ยงภาษีบุหรี่ หมายเลขดำอ.185/59 ที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจท์ยื่นฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด จำกัด โดย นายทรอย เจ ม้อดลิน (TROY J MODLIN) ผู้แทนบริษัทฟิลลิป มอร์ริสฯ , นายศิลาเอก สุนทราภัย อายุ 48 ปี , นางดาลัค วารณะวัฒน์ อายุ 45 ปี , น.ส.เสาวลักษณ์ อาภาเบิกบาน อายุ 39 ปี , น.ส.จรรยานี วิสุทธิกุลพาณิชย์ อายุ 45 ปี , น.ส.สุจินดา ไตรรัตน์เกยูร อายุ 50 ปี , นางทรรศสม ลาภประเสริฐ อายุ 48 ปี และ น.ส.วราภรณ์ อภิเสถียรสุข อายุ 39 ปี พนักงานชาวไทย ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-8 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ภาษีศุลกากรพ.ศ.2469 ม.27 115 จัตวา, พ.ร.บ.บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 ม.4 -9 ที่ห้องพิจารณา 910 โดยคดีนี้อัยการโจทก์ได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่18 ม.ค.2559 ระบุพฤติการณ์ความผิดจำเลยสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 28 ก.ค. 2546 - 24 มิ.ย.2549 พวกจำเลยทั้งแปด ร่วมกันบังอาจสำแดงเท็จ โดยฉ้อโกงและออกอุบายด้วยการยื่นใบขนส่งสินค้าขาเข้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร กรมศุลกากร เพื่อผ่านพิธีการศุลกากรโดยสำแดงราคาสินค้าบุหรี่ ยี่ห้อมาร์ลโบโร อันเป็นเท็จ ไม่ตรงตามราคาที่แท้จริง โดยรวมราคาบุหรี่และค่าอากรแสตมป์ทั้งสิ้น เป็นเงินจำนวน 20,210,209,582.50 บาท (สองหมื่นล้านสองร้อยสิบล้านสองแสนเก้าพันห้าร้อยแปดสิบสองบาทห้าสิบสตางค์) เหตุเกิดที่ท่าเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และที่อื่นเกี่ยวพันกัน โดยคดีนี้พวกจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีและได้รับการประกันตัว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ล่าสุด ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ได้ความว่า ในช่วงที่เกิดเหตุจำเลยมีการสำแดงต้นทุนราคาบุหรี่นอกยี่ห้อมาโบโร่ จากซองละ 9.5 บาท และสุดท้ายอยู่ที่ซองละ 7.76 บาท ส่วนบุหรี่ยี่ห้อแอลเอ็ม จากซองละ 7 บาท สุดท้ายอยู่ที่ซองละ 5.88 บาท แต่เมื่อดีเอสไอลงพื้นที่ไปตรวจเปรียบเทียบราคาต้นทุนที่ผลิตในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นทั้งต้นทางผลิตส่งนำเข้ามาในไทยและส่งขายไปยังประเทศใกล้เคียง กลับพบว่ามีราคาต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ซองละ 13-19 บาท และเขตปลอดภาษีในไทยก็ตั้งราคาขายอยู่ที่ซองละกว่า 20 บาท และแม้ว่าข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า มีการนำเข้าในใบขนบางส่วนถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็เป็นเพียงความเห็นในทางคดี ไม่สามารถนำมาใช้รับฟังได้ เมื่อนำพยานหลักฐานมาวิเคราะห์แล้ว จึงพบว่า ราคาต้นทุนของบุหรี่ที่โจทก์นำฟ้องในใบขน 272 ใบ รวมเป็นเงินกว่า 12,270 ล้านบาท ซึ่งพิเคราะห์ว่าตัวเลขดังกล่าวมีการนำราคาสินค้าในเขตปลอดชำระภาษี หรือ ดิวตีฟรี มาคำนวน ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรม จึงกำหนดราคาต้นทุนที่ต้องนำไปคำนวนภาษีเงินขาดเหลือเพียง 6,135 ล้านบาท และคำนวนภาษีเงินขาดได้ 306.4 ล้านบาท เมื่อนำไปเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่ จึงต้องชำระค่าปรับเป็นเงิน 1,225.9 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทที่ลงลายมือชื่อในใบขนทั้ง 272 ใบ ศาลสั่งยกฟ้อง เพราะเห็นว่าทำไปตามหน้าที่ และไม่รู้เห็นกับการจัดทำใบขน ที่ทำขึ้นในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม หลังมีคำพิพากษา นายเจอรัลด์ มาโกลีส ชาวอเมริกัน ผู้จัดการสาขาบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ที่มาร่วมรับฟังคำพิพากษาในคดีนี้ด้วย กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกยินดีกับพนักงานทั้ง 7 คน ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ส่วนคำตัดสินในส่วนของบริษัทฯ จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป เพราะมองว่าเรื่องข้อกฎหมายยังมีความขัดแย้งกันอยู่ โดยเฉพาะกับคำตัดสินที่องค์การการค้าโลก หรือ WTO เคยมีคำตัดสินไปก่อนหน้านี้ อีกทั้งยืนยันว่าบริษัทฯได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายของไทยในเรื่องของการแสดงราคาสินค้าและการยื่นสำแดงนำเข้ามาโดยตลอด