แนะหากมีไข้สูงหลายวัน มีผื่นนูนแดงที่หน้าแล้วกระจายไปลำตัว แขนขา ต้องรีบพบแพทย์ทันที นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคหัดในปีนี้พบว่ามีรายงานผู้ป่วยในทุกภูมิภาคของโลกอย่างต่อเนื่อง นานาประเทศจึงตั้งมั่นร่วมมือกันที่จะกำจัดโรคหัดให้หมดไปโดยเร็ว สำหรับไทย กรมควบคุมโรคได้ให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กองระบาดวิทยา และกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ติดตามและประเมินสถานการณ์โรคหัดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยจัดโครงการให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในกลุ่มเด็กอายุ 1-12 ปีทั่วประเทศ ตามแผนเร่งรัดการกำจัดโรคหัดของประเทศไทย เพื่อให้วัคซีนเก็บตกในกลุ่มเด็กไทยและเด็กต่างชาติช่วงอายุดังกล่าว ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ทุกราย โดยเป็นการให้วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) แก่เด็กอายุ 1-7 ปี และให้วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน (MR) แก่เด็กอายุ 7-12 ปี ซึ่งผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนฟรีที่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง จนถึงเดือนมี.ค.63 ทั้งนี้ โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งเป็นไวรัสที่พบบ่อยในจมูกและลำคอผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยคือ ไข้ออกผื่น โดยมักมีไข้สูงประมาณ 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น โดยผื่นเริ่มขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปยังใบหน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแพร่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายทั่วตัว ประมาณ 2-3 วัน ไข้จะค่อยๆ ลดลง และผื่นจะค่อยๆจางหายไป ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากอาจจะลอกเป็นขุย หรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบจนถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด หากป่วยด้วยโรคหัดหรือสงสัยว่าเป็นโรคหัด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาทันที นพ.อัษฎางค์ กล่าวา ขอให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญนำบุตรหลานมารับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยวัคซีนป้องกันโรคหัด มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากกว่าร้อยละ 95 ซึ่งตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของก.สาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็ก อายุ 9 เดือน เข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง หากพบว่าบุตรหลานยังรับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ผู้ปกครองสามารถพาไปรับวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคหัดจะมีอัตราการป่วยตายต่ำในเด็กทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ยังคงมีความเสี่ยงในเด็กเล็ก และเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารหรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422