“กกบ.”เผยใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ 1 ม.ค.63 ผ่อนผันหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนเป็นส่วนหนึ่งของทุนต่อไปได้ แต่ไม่เกิน 3 ปี พร้อมกระตุ้นภาคธุรกิจเร่งบริหารจัดการให้ตรงตามมาตรฐานการบัญชีโดยเร็ว นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติผ่อนผันให้บริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนที่มีการเสนอขายและได้รับชำระค่าหุ้นกู้ก่อนวันที่ 31 ธ.ค.62 แสดงรายการเป็นส่วนหนึ่งของทุนต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ 1 ม.ค.63 สำหรับมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 (TAS 32) เรื่อง การแสดงรายการเครื่องมือทางการเงิน ยังคงบังคับใช้ตามกำหนดเวลาเดิม คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 เป็นต้นไป โดยมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้จะให้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการแสดงรายการในงบการเงินของกลุ่มเครื่องมือทางการเงินทั้งหมด สำหรับกรณีกิจการมีการออกหุ้นกู้ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งนั้น TAS 32 กำหนดให้กิจการผู้ออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนต้องแสดงเป็นหนี้สินหรือทุน ขึ้นอยู่กับภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายชำระในอนาคตเช่น แสดงเป็นหนี้สิน หากเป็นหุ้นกู้ฯ ที่กิจการต้องจ่ายชำระคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ยก่อนการชำระบัญชีหรือก่อนเลิกกิจการ และแสดงเป็นทุน หากเป็นหุ้นกู้ฯที่กิจการชำระคืนเมื่อเลิกกิจการ เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจุบันมีบริษัทออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน ซึ่งมีข้อกำหนดอาจจะตีความได้ว่าผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนก่อนการชำระบัญชีหรือได้รับชำระคืนก่อนเลิกกิจการ โดยมาตรฐานการบัญชีปัจจุบันบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ดังกล่าวสามารถแสดงรายการในงบการเงินเป็นทุนได้ อย่างไรก็ตามเมื่อ TAS 32 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.63 บริษัทต้องจัดประเภทรายการใหม่เป็นหนี้สินในงบการเงินทันที เนื่องจากไม่เข้าลักษณะการแสดงรายการเป็นทุนตาม TAS 32 อีกต่อไป สถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ทันทีคือ ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เพิ่มสูงขึ้น ผู้ออกหุ้นกู้อาจผิดเงื่อนไขทางการเงิน จนอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือส่งผลให้การระดมทุนทำได้ยากขึ้น และอาจประสบปัญหากระแสเงินสดในอนาคต “กกบ.คาดหวังว่ามาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยจะใช้เต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ หรือ IFRS ที่ใช้ในการจัดทำงบการเงินเป็นมาตรฐานเดียวกันกับอีก 140 ประเทศทั่วโลก เป็นการยกระดับมาตรฐานการจัดทำรายงานทางการเงินของไทยและส่งเสริมให้รายงานทางการเงินของไทยมีความน่าเชื่อถือ โปร่งใสในสายตาของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคง รองรับการเปิดการค้าเสรีของโลก”