“สิระ-เอ๋” แห้วแพ้มติ 7 ต่อ 2 เสียงปลด "เสรีพิศุทธ์" เกือบป่วนเหตุ "วัฒนา - วิโรจน์" นั่งข้างหัวโต๊ะ "ปารีณา"ไม่ยอมลากเก้าอี้นั่งข้างประธาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน ทั้งนี้นายวัฒนา เมืองสุข และพล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ นั่งอยู่ข้างๆ หัวโต๊ะในฐานะที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการด้วย จนทำให้น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ และนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ทักท้วงว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการจัดที่นั่งละเมิดศักดิ์ศรีของ ส.ส.คนอื่นๆ ที่เป็นกรรมาธิการ และละเมิดธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะที่ปรึกษาทั้งสองคนไม่ได้เป็น ส.ส. โดยกรรมาธิการในสัดส่วนฝ่ายค้าน ทั้ง นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ , น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ , นายธีรัจชัย พันธุมาศ ต่างก็อภิปรายชี้แจงว่า ไม่มีข้อบังคับกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งที่นั่งในห้องกรรมาธิการ และควรให้เกียรติที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ ที่เป็นระดับอดีตรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคการเมือง มาทำหน้าที่ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ จึงควรนั่งใกล้กับประธานกรรมาธิการ โดยพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ชี้แจงว่า บุคคลทั้ง 2 คน ไม่ได้เป็นบุคคลที่ตนเองเสนอ แต่เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอมา ทำให้น.ส.ปารีณา แย้งว่า หากเอา ส.ส.สอบตกนั่งตรงไหนก็ได้ ตนเองก็จะนั่งตามใจบ้าง จากนั้นน.ส.ปารีณาก็ลากเก้าอี้ไปนั่งข้างพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ทำให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์แซวว่า "ได้นั่งข้างคนสวย อย่าเผลอกอดผมนะ" ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้เกิดความวุ่นวายเมื่อน.ส.ปารีณา เล่นมือถือและพิมพ์ข้อความ ในระหว่างการประชุม โดยไม่สนใจใคร ทำให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มองเห็นข้อความ และได้สั่งห้ามใช้เครื่องมือสื่อสาร โดยนายธีรัจชัย ย้ำว่า เป็นอำนาจของประธานกรรมาธิการตามข้อบังคับข้อที่ 9 ว่าประธานสามารถวินิจฉัยกรณีเกิดความไม่สงบเรียบร้อยได้ จนทำให้นายสิระ ทักท้วงขึ้นมาว่า น.ส.ปารีณาแค่ใช้โทรศัพท์เท่านั้น ไม่ได้ก่อความวุ่นวายกวนประสาทนายธีรชัย และพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไม่ได้มองโทรศัพท์แต่มองอย่างอื่นของน.ส.ปารีณา ซึ่งพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตอบทันควันว่า น.ส.ปารีณา ไม่มีอะไรน่ามอง พร้อมสั่งห้ามใช้อำนาจสั่งห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารในที่ประชุม จากนั้นนายสิระ ได้เสนอให้ที่ประชุมปลดประธานกรรมาธิการ ว่ามีอำนาจตามข้อบังคับสามารถทำได้หรือไม่ โดยนายธีรชัยยืนยันตามข้อบังคับข้อที่ 93 ว่าตำแหน่งกรรมาธิการเป็นไปตามอัตราส่วนของ ส.ส. แต่ละพรรคการเมือง แล้วจึงให้คณะกรรมาธิการเห็นชอบ จึงมองว่าคณะกรรมาธิการไม่สามารถปลดประธานกรรมาธิการออกจากตำแหน่งได้ เว้นแต่จะได้รับการยินยอมจากประธานกรรมาธิการ หรืออัตราส่วนของ ส.ส.มีความเปลี่ยนแปลงไป นายสิระ จึงกล่าวว่า ตำแหน่งประธานกรรมาธิการชุดนี้เป็นโควตาของฝ่ายค้าน แต่ไม่เกี่ยวกับการกำหนดตัวบุคคล และมติที่แต่งตั้งประธานกรรมาธิการก็เป็นมติจากคณะกรรมาธิการทั้ง 15 คน ตำแหน่งประธานกรรมาธิการจึงไม่ใช่ตำแหน่งส่วนตัว คณะกรรมาธิการสามารถปลดได้ ขณะที่กรรมาธิการสัดส่วนรัฐบาลคนอื่นๆ อาทิ นายรังสิกร ทิมาตฤกะ , นายสุฑา ประทีป ณ ถลาง เสนอให้นำเรื่องเข้าหารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุมใหญ่ ในที่สุดที่ประชุมมีมติฝ่ายค้าน 7 เสียง เห็นว่าคณะกรรมาธิการไม่มีอำนาจปลดประธานกรรมาธิการ ฝ่ายรัฐบาล 2 เสียง ประกอบด้วยนายสิระและน.ส.ปารีณา เห็นว่าคณะกรรมาธิการมีอำนาจปลดประธานกรรมาธิการ ส่วนกรรมาธิการที่เหลืองดออกเสียง จึงทำให้ที่ประชุมยกเรื่องการ ปลดประธานกรรมาธิการออกจากการพิจารณา