บัตรแรบบิท สมาร์ทการ์ดชั้นนำของไทยในยุคสังคมไร้เงินสด ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การเดินทางและการใช้จ่ายของคนไทยที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันจำนวนผู้ถือบัตรแรบบิททั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะมีผู้ถือบัตรแรบบิทกว่า 15 ล้านใบในปี 2563 น.ส.รัชนี แสนศิลป์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (บีเอสเอส) ผู้ให้บริการบัตรแรบบิท (Rabbit Card)เปิดเผยว่า บัตรแรบบิทเริ่มให้บริการกับประชาชน ตั้งแต่ปี 2555 มีแนวคิดเริ่มต้นคือ ต้องการให้บัตรแรบบิท เป็นบัตรสมาร์ทการ์ดสำหรับคนไทยที่ใช้สำหรับชำระค่าโดยสารขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ หรือ ตั๋วร่วม (common ticket) และใช้ชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆได้ด้วย โดยแนวคิดนี้สอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสดและต้องการให้มีบัตรใบเดียวที่สามารถใช้ระค่าโดยสารในระบบขนส่งได้ทุกประเภท “ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา เราได้ขยายเครือข่ายพันธมิตรและพัฒนาบัตรแรบบิทให้สามารถใช้ชำระค่าโดยสารที่ครอบคลุมการเดินทางที่หลากหลายของคนในยุคปัจจุบันทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอส รถบีอาร์ที เรือโดยสาร และรถโดยสารประจำทางทั้งในกรุงเทพฯ และในหัวเมืองสำคัญต่างๆเช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และนนทบุรี” ขณะเดียวกันการขยายตัวไปยังร้านค้าต่างๆยังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความถูกต้องน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยของระบบที่ได้รับการรับรองจากมาตรฐานระดับโลก และเรายังมีการทำโปรโมชั่นร่วมกับร้านค้าพันธมิตร การโฆษณาสื่อสารไปยังผู้บริโภคทั่วไปและลูกค้าที่เป็นสมาชิกของแรบบิท ซึ่งปัจจุบันเรามีผู้ถือบัตรแรบบิทมากกว่า 13 ล้านใบ ในขณะเดียวกันเรายังช่วยร้านค้าพันธมิตรในการวิเคราะห์โปรโมชั่นต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าเพื่อให้ร้านค้าพันธมิตรเข้าใจความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น สำหรับในปัจจุบันได้มีการออกบัตรแรบบิทไปแล้วกว่า 13 ล้านใบ โดยเป็นอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละกว่า 2 ล้านใบ จากการขยายการชำระค่าโดยสารเข้าไปในระบบขนส่งต่างๆที่มากขึ้น รวมถึงการมีร้านค้าพันธมิตรเพิ่มขึ้นมากกว่า 300 ร้านค้าและจุดบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 12,000 จุด ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อาหารในเครือ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ศูนย์อาหารในเครือ ซีพีเอ็น ศูนย์อาหารในเอ็มบีเค สามย่านมิตรทาวน์ แมคโดนัลด์ทุกสาขา นอกจากนี้ยังรวมถึงร้านอาหารทุกแบรนด์ในเครือไมเนอร์ กรุ๊ป ทั่วประเทศ ร้านสะดวกซื้อ เช่น เทสโก้เอ็กซ์เพรส มินิบิกซี แฟมมิลี่มาร์ท ลอว์สัน แม็กแวลูทันใจ วัตสัน รวมถึงโรงภาพยนตร์ชั้นนำ ร้านชานมและกาแฟต่างๆ มากมาย ทำเราเป็นผู้นำในการชำระเงินสำหรับร้านชาและกาแฟ โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะขยายจุดบริการให้มีมากกว่า 20,000 จุดภายในปีทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยนอกจากร้านค้าพันธมิตรต่างๆแล้ว องค์กร บริษัท รวมถึงสถาบันการศึกษายังมีการนำบัตรแรบบิทมาทำเป็นบัตรพนักงาน บัตรนักเรียนหรือบัตรนักศึกษา บัตรเข้า-ออกอาคาร หรือคีย์การ์ดเข้าออกคอนโดมีเนียมอีกด้วยเช่น โครงการคอนโดมีเนียม The Line by Sansiri ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ร.ร.นานาชาติร่วมฤดี บริษัทในเครือสหพัฒน์ฯ และบริษัทสิงห์ เอสเตท จำกัด เป็นต้น โดยบัตรเหล่านี้จะได้สิทธิประโยชน์ทุกอย่างเช่นเดียวกับบัตรแรบบิททั่วไปไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าโดยสารในระบบขนส่งต่างๆได้ รวมถึงได้รับส่วนลดต่างๆ ในร้านค้าพันธมิตรทั้งหมด จะเห็นได้ว่าบัตรแรบบิทสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองได้อย่างชัดเจนและลงตัว “ตลอด 7 ปีที่บัตรแรบบิทให้บริการ เรามีการพัฒนาบริการเพื่อในสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการและให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่เปลี่ยนไป บนเงื่อนไขที่เราต้องรักษามาตรฐานการชำระค่าโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะต้องมีความถูกต้อง ปลอดภัยและรวดเร็ว ดังนั้นเราจึงยังคงระบบการจ่ายชำระเงินของแรบบิทให้อยู่ในรูปแบบของบัตร” ทั้งนี้เพื่อให้การใช้บัตรแรบบิทมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมถึงการก้าวสู่สังคมดิจิตอลที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้เวลากับมือถืออย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อวัน เราจึงร่วมมือกับแรบบิท ไลน์ เพย์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือในการให้ผู้ถือบัตรแรบบิท สามารถผูกกระเป๋าเงินในบัตรแรบบิท เข้ากับกระเป๋าแรบบิท ไลน์ เพย์ จึงทำให้ผู้ถือบัตรสามารถเติมเงินและเติมเที่ยวโดยสารบีทีเอส ผ่านโมบาย แอพพลิเคชั่น ของแรบบิท ไลน์เพย์ได้ ซึ่งเป็นการผสมผสานโลกออฟไลน์กับออนไลน์เข้าไว้ด้วยกันอย่างไรร้อยต่อ เรียกได้ว่าเราเป็นรายแรกและรายเดียวในโลกที่พัฒนานวัตกรรมทางการเงินในลักษณะนี้ นอกเหนือจากนี้ในปี 2563 บัตรแรบบิทจะเพิ่มความสะดวกสบายในการเติมเงินในอีกระดับหนึ่ง โดยได้พัฒนาให้บัตรแรบบิทสามารถเติมเงินผ่านโมบาย แอพพลิเคชั่นของแรบบิท และผ่านโมบายแบงค์กิ้งของธนาคารต่างๆ โดยหลังจากเข้าไปทำคำสั่งเติมเงินในแอพพลิเคชั่น หรือโมบายแบงค์กิ้งของธนาคาร แล้วนำบัตรแรบบิทไปแตะที่มือถือเพียงเท่านี้ก็จะสามารถเติมเงินเข้ากระเป๋าแรบบิทได้แล้ว รวมถึงการเติมเที่ยวโดยสารจะสามารถทำได้ในเฟสถัดไป ขณะที่ในวันที่19 พ.ย.ที่ผ่านมา บัตรแรบบิทได้ร่วมมือกับบริษัทสมาร์ทบัส จำกัด ผู้ประกอบการให้บริการรถร่วมบริการ ขสมก.เปิดตัวระบบการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิทโดยใช้มาตรฐานเดียวกับระบบแรบบิทที่ใช้ในรถไฟฟ้าบีทีเอส มาทดลองใช้กับรถสมาร์ทบัสสาย 104 และ 150 ซึ่งถือว่าเป็นการนำระบบการชำระเงินตามมาตรฐานสากลมาใช้ในรถโดยสารประจำทางสาธารณะในกรุงเทฯเป็นครั้งแรก และภายในไตรมาสแรกของปี 2563 จะมีการติดตั้งเพิ่มในรถสมาร์ทบัสอีก 5 สาย โดยคาดว่าสิ้นปี 2563 จะสามารถติดตั้งระบบการชำระเงินด้วยบัตรแรบบิทนี้ได้อย่างสมบูรณ์ในรถสมาร์ทบัสสายอื่นๆรวมกว่า 2,000 คัน โดยจากการขยายเครือข่ายการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิทในระบบขนส่งสาธารณะนี้ คาดว่าในปี 2563 จำนวนผู้ใช้บัตรแรบบิทจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 8 แสนถึง 1ล้านคนต่อวัน ในขณะเดียวกันการเพิ่มเส้นทางการให้บริการของรถไฟฟ้าบีทีเอสระหว่างปี 2563-2564 ระยะทางจะเพิ่มขึ้นจาก 50 กม. เป็น 170 กม. ซึ่งเส้นทางที่เพิ่มขึ้น คือ สายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้งานบัตรแรบบิทเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1 ล้านคนต่อวัน