เหลือเพียงไม่ถึงปีแล้ว ที่โลกจะร่วมลุ้นระทึกกับศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายนปีหน้า หรือ ค.ศ.2020 ที่มิว่าใครจะตบเท้าเข้าร่วมสมรภูมิเลือกตั้งอันสุดเดือด ก็เป็นต้องห้อยท้ายเลขปี ค.ศ.ที่ว่าไว้กับชื่อของตน ในการรณรงค์เลือกตั้ง เช่น “ทรัมป์ 2020” และ “เบอร์นี 2020” เป็นต้น ล่าสุด ก็เป็นรายของ “บลูมเบิร์ก 2020” อดีตนายกเทศมนตรีคนที่ 108 และดำรงตำแหน่งถึง 3 สมัย แห่งมหานครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก อย่าง “นายไมเคิล บลูมเบิร์ก” ก็ “ตัดสินใจ” ไปเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ว่าจะเข้าร่วมวิถีชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในปีหน้านี้ด้วย โดยเป็นการตัดสินใจ ภายหลังจากชั่งใจว่าจะ “ลุย” หรือ “ไม่ลุย” กันอยู่หลายเพลา พิจารณาคิดสรตะกันอยู่ตลบ ก่อนประกาศขอร่วมสู้ศึกชิงทำเนียบขาว ซึ่งอดีตนายกเล็กแห่งมหานครนิวยอร์ก วัย 77 ปีผู้นี้ ได้ประกาศกร้าวว่า ตนขอกำราบปราบ “นายโดนัลด์ ทรัมป์” ในสังเวียนชิงชัยศึกประธานาธิบดีที่จะมีขึ้น และจะ “รีบิลด์” ซ่อมแซมฟื้นฟูสหรัฐอเมริกา พร้อมกันนี้ นายบลูมเบิร์ก ยังกล่าวด้วยว่า พวกเราไม่สามารถให้นายทรัมป์ ได้บริหารประเทศต่อไปได้อีก 4 ปี ซึ่งถ้าหากเขาได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายให้แก่สหรัฐฯ อย่างที่ไม่อาจจะกอบกู้แก้ไขความเสียหายของประเทศให้กลับมาดีได้อีก อย่างไรก็ดี พลันที่นายบลูมเบิร์ก ประกาศตนลงสู้ศึกชิงทำเนียบขาว ก็ปรากฏว่า บรรดานักวิคราะห์ ได้ออกมาแสดงทรรศนะว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่อดีตนายกเทศมนตรี3สมัยแห่งมหานครนิวยอร์กรายนี้ จะมีชัยเหนือคู่แข่งคนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งกับประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ออกมาตอบโต้ต่อนายบลูมเบิร์กอย่างทันควันว่า “ไมเคิลน้อย” จะล้มเหลวในการทำศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้น โดยบรรดานักวิเคราะห์หยิบยกถึงเหตุปัจจัยที่จะทำให้นายบลูมเบิร์ก ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไม่สะดวกดาย ไล่ไปตั้งแต่การบริหารมหานครนิวยอร์ก ในช่วงที่เขาเรืองอำนาจ ซึ่งถึงแม้เคยได้รับคะแนนนิยมพุ่งสูงในห้วงที่เกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยาฯ เมื่อปี 2544 และการรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อน แต่ในเวลาต่อคะแนนนิยมของนายบลูมเบิร์กก็ตกต่ำลง โดยเฉพาะนับตั้งแต่ที่เขาดำเนิน “นโยบายหยุด-และ-ค้นตัว (Stop – and – frisk Policy)” ที่ให้อำนาจต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจของมหานครนิวยอร์กในการเรียกประชาชนให้หยุด และสามารถค้นตัวได้ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่านโยบายข้างต้น จะส่งผลให้สามารถควบคุมการพกพาอาวุธปืนไปตามสถานที่สาธารณะได้บ้างก็จริง แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและเชื้อชาติตามมา จากการที่ตำรวจมักจะเรียกให้หยุดและค้นตัวต่อชาวผิวสีทั้งหลาย และพวกฮิสแปนิก คือ ชาวอเมริกาใต้ที่พูดสเปน เสียส่วนใหญ่ จนถูกมองว่า เป็นนโยบายที่ไปช่วยเพิ่มอคติทางเชื้อชาติ สีผิว โดยนายบลูมเบิร์กถูกวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบในการดำเนินนโยบายนี้อยู่เนืองๆ และเขาเองก็ปฏิเสธที่จะรับผิดชอบมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่าน กระทั่งเพิ่งมายอมขอโทษ ขออภัย ไปเมื่อกลางเดือน พ.ย.ที่เพิ่งพ้นผ่านพ้นไปนี้เอง โดยคาดหมายกันว่า สาเหตุที่ออกมาขอโทษก็เพื่อหวังผลทางการเมือง คือ จะลงสมัครับเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้น เหตุปัจจัยอีกประการหนึ่งที่จะทำให้นายบลูมเบิร์ก อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในเวทีชิงชัยเลือกตั้งสนามใหญ่ ก็คือ การที่อดีตนายกเทศมนตรีของมหานครนิวยอร์กแห่งนี้ มักจะเปลี่ยนพรรคการเมืองที่เขาสังกัดอยู่เรื่อยๆ จนทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในจุดยืนแนวคิดทางการเมืองของเขา โดยในประเด็นการเปลี่ยนพรรคฯ นั้น แรกเริ่มเดิมที นายบลูมเบิร์ก ได้สังกัดอยู่กับ “พรรครีพับลิกัน” มาก่อน จากนั้นได้มาเป็น “นักการเมืองอิสระ” ไม่ขึ้นกับสังกัดพรรคการเมืองใด ซึ่งในความเป็นจริงในทางการเมืองของสหรัฐฯ นั้น เป็นเรื่องยากที่จะสู้ศึกเลือกตั้งแบบลุยเดี่ยวข้ามฟาก ไม่สังกัดพรรคฯ ก่อนที่ในปีที่แล้ว คือ ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ที่ผ่านมานี้เอง ก็ย้ายมาซบพรรคเดโมแครต คู่ปรับตลอดกาลของพรรครีพับลิกัน และด้วยเหตุผลนี้ อเมริกันชนจำนวนไม่น้อยก็เห็นว่า เขาเป็นพวกโลเลทางการเมือง จะอยู่พรรคไหน ก็ให้ได้ปประโยชน์สำหรับตนเท่านั้น ทั้งนี้ ภาพดังกล่าว ได้สะท้อนออกมาผ่านการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หรือการทำโพลล์ ล่าสุด ของสำนักต่างๆ เช่น อิปซอส มอร์นิงคอนซัลต์ เป็นต้น ต่างออกมาระบุว่า นายบลูมเบิร์ก ซึ่งแม้ได้ชื่อว่าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งคนดัง แต่คะแนนนิยมของเขากลับต่ำเตี้ยเรี่ยดินอยู่ที่ร้อยละ 4 เท่านั้น เป็นรองผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ อยู่หลายขุม ไม่ว่าจะเป็นนายเบอร์นี แซนเดอร์ส นายโจ ไบเดน หรือแม้กระทั่งเอลิซาเบธ วอร์เรน เป็นต้น โดยเขามีแนวโน้มสูงทีเดียวเชียวว่า อาจไม่ผ่านด้วยซ้ำในเวทีชิงชัยเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ที่เป็นไปได้ว่า อดีตนายกเล็กแห่งมหานครนิวยอร์กรายนี้ อาจม้วนเสื่อกลับบ้านในลำดับต้นๆ