ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร เป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจในช่วงปลายปี 2561 ซึ่งฝุ่น PM2.5 มลพิษที่มีผลกระทบกับสุขภาพมากที่สุด มลพิษทางอากาศที่มีขนาดเล็กมาก PM2.5 สามารถเข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้ และจากนั้นก็ไปทั่วร่างกาย เป็นสาเหตุของผลกระทบด้านสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาวมากมาย โดยเด็ก คนสูงวัยและกลุ่มประชากรเสี่ยงในสังคมได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ถึงอย่างไรจากข้อมูลปี 2561 นั้น ฝุ่น PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐาน(ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)อยู่ในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม โดยที่ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นช่วงฤดูการไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ขณะที่ปี2562 เดือนกันยายน ปัญหาฝุ่นPM2.5ในกรุงเทพฯกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นจุดท่องเที่ยวติดอันดับที่ อันดับ 2 ของโลกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยือนประมาณ 23,688,800 คน จาก Top 100 City Destination 2018 ซึ่งจากการสำรวจทั้งหมด 600 เมือง โดยยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยอันดับ 1 คือฮ่องกง แต่ในปี 2562 ฮ่องกงเกิดปัญหาการมีการชุมนุมที่ต่อเนื่องและมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของฮ่องกงอย่างชัดเจนจากการที่ผู้ชุมนุมปิดสนามบินทำให้มีการสั่งยกเลิกการบินในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นโอกาสสำคัญที่กรุงเทพฯจะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ดังนั้นมาตรการในการป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯจะต้องมีความชัดเจนว่าในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะมีโอกาสเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งจะกระทบต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะเข้ามาท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การมีมาตรการที่รัฐบาลจะต้องมีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก เป้าหมายการเป็นอันดับ 1 ของเมืองท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครอยู่ที่การสื่อสารให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในการเข้ามาท่องเที่ยวที่กรุงเทพมหานคร การปรับลดการสร้างมลภาวะทางอากาศและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เพิ่มมากขึ้นในจุดเขตต่างๆ การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระยะยาวเป็นโจทย์ที่สำคัญมากสำหรับรัฐบาล