กระทรวงเกษตรฯ บุกตลาดการค้าจีน ส่งออกยางพารา ข้าว รำสกัดน้ำมัน สานสัมพันธ์ ยกระดับความร่วมมือภาคการเกษตร ไทย-จีน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 18-23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะทำงาน เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ และข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการค้าการเกษตร ทั้งยางพารา ข้าว และเพื่อศึกษาดูงานเทคโนโลยีการเกษตรต่างๆ มาปรับใช้ภายในประเทศไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับผู้บริหาร บ.ชิโนเคม กรุ๊ป ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับฝ่ายจีนว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรทุกชนิด โดยเฉพาะยางพารา ซึ่งประเทศไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและมีมาตรการต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนในเรื่องยางพารา ซึ่งล่าสุด บ.Sino-Chem International มีแผนเข้ามาลงทุนธุรกิจยางพาราในจังหวัดระยอง ทั้งยัง ได้นำผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ และการยางแห่งประเทศไทย จับมือ 3 บริษัทน้ำยางข้นยักษ์ใหญ่จีน ลงนามความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านธุรกิจระหว่างการยางแห่งประเทศไทย กับ 3 บริษัทน้ำยางข้นจีน ได้แก่ 1.บ. GOAMI ZHENGFENG TRADING (บ.นำเข้าน้ำยางข้น อันดับ1 ของจีน) 2.บ.NINGBO CHANGHKEN (บ.นำเข้าน้ำยางข้นจากไทยเป็นอันดับ1) 3.บ.SANGDONG XINGYU (บ.ใช้น้ำยางข้นผลิตถึงมือยางอันดับ 1 ของจีน) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชาจีน ปี 2561 อุตสาหกรรมน้ำยางข้นไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก ไทยส่งออกน้ำยางข้นลดลง 14 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะตลาดจีนลดลงกว่า 23 เปอร์เซนต์ ซึ่งการลงนามในวันนี้ จะเป็นการรักษาฐานลูกค้าจากประเทศผู้ซื้อยางเดิม เพิ่มมูลค่าทางการค้าให้สินค้ายางพาราของไทย เป็นการเพิ่มช่องทางหาตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพราคายางให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางของไทย ทางด้านการส่งออกข้าว นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เข้าพบหารือกับนายจาง จี้เหวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการสำนักงานการศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 เพื่อขอบคุณ GACC ที่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งออกข้าวจากไทยไปจีน โดยฝ่ายไทยได้เสนอรายชื่อผู้ผลิตฯ ชุดที่ 2 ให้ GACC เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนแล้ว ซึ่ง GACC แจ้งว่า จะเร่งพิจารณารายละเอียดในการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตฯ ดังกล่าวโดยเร็วที่สุด "ถือเป็นโอกาสสำคัญนี้ ที่ผมและคณะผู้บริหารกระทรวง ได้มาพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงของจีน ซึ่งจีนแจ้งว่า ข้าวไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในจีน และจีนให้ความสำคัญกับการนำเข้าสินค้าเกษตรคุณภาพสูงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะข้าวจากไทย ซึ่งที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 49 ราย ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SME รายย่อย จึงมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเพื่อส่งออกไปจีน วันนี้ จึงถือเป็นข่าวดียิ่งที่ฝ่ายจีนตอบรับที่จะให้การสนับสนุนและเร่งรัดในการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตอีกล็อตใหญ่ ซึ่งคาดว่าข้าวไทยกว่า 1 ล้านตัน จะถูกส่งออกมายังจีนในเร็ววันนี้"นายเฉลิมชัย กล่าว นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ร่วมลงนามพิธีสารด้านมาตรการสุขอนามัยฯ กับผู้แทนรัฐบาลจีน เพื่อเปิดตลาดใหญ่ส่งออกรำข้าวสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มไปจีนเป็นครั้งแรก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในการนำเข้ารำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มจากประเทศไทย ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกรำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์ม ซึ่งเป็นกากที่เหลือจากการสกัดน้ำมันพืชไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ พิธีสารดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อเปิดตลาดการส่งออกสินค้ารำสกัดน้ำมันและกากเนื้อในเมล็ดปาล์มไปยังประเทศจีนเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ นับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของไทย เป็นการเพิ่มโอกาสและสร้างมูลค่าให้กับสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตร โดยไทยมีศักยภาพในการผลิตกากรำข้าวราว 280,000 ตันต่อปี และกากเนื้อในเมล็ดปาล์มราว 250,000 ตันต่อปี ขณะที่ด้านความร่วมมือทางเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศ ได้เข้าพบหารือคณะกรรมาธิการเกษตรเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Municipal Agriculture and Rural Affairs Commission) เพื่อหารือแนวทางการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยีและความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตรระหว่างกัน และการเพิ่มขีดความสามารถในพัฒนาการเกษตรของเกษตรกรไทย โดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ตอบโจทย์ความท้าทายการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก “ขอให้ผู้บริหารระหว่างสองประเทศผลักดันความร่วมมือด้านการเกษตรกับจีนอย่างต่อเนื่อง เช่น การบริหารจัดการน้ำสำหรับฤดูแล้ง การทำเกษตรกรรมแม่นยำ ผ่านความร่วมมือด้านการเกษตรไทย–จีน ได้แก่ ความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร (Sino–Thai Agricultural Technical Cooperation) ความร่วมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย -จีน เป็นต้น โดยความร่วมมือดังกล่าวจะต้องเกิดผลโดยตรงกับเกษตรกร”นายเฉลิมชัย กล่าว