กลุ่มเกษตรกรชุดดำ ค้านแบน 3 สารเคมี เดินหน้ายื่นหนังสือถึงนายกฯ แสดงจุดยืนไม่ส่งคืน 3 สาร เรียกร้องตีกลับ ขอใช้มาตรการจำกัดแทน วันที่ 26 พ.ย.กลุ่มตัวแทนเกษตรกรแต่งชุดดำคัดค้านการยกเลิกใช้ 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส กว่าพันคน เดินทางมารวมตัว เพื่อยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับมอบ เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับมติการแบน 3 สารเคมีของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน ยืนยันจะไม่ส่งมอบคืนสารเคมีที่เสียเงินซื้อมา ในวันที่ 1 ธ.ค.62 แน่นอน เพราะยังไม่เห็นแนวทางเยียวยาที่ชัดเจนจากภาครัฐ และ อยากให้หาแนวทางที่ชัดเจนในการใช้สารทดแทนหรือสารทางเลือกต่างๆที่เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรก่อนที่จะมีการยกเลิกการใช้ นายชัยภัฏ จันทรวิไล ประธานเครือข่ายเกษตรกรและแนวร่วมผู้ได้รับผลกระทบจากการแบน 3 สารเคมีเกษตร ระบุว่า เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบกับเกษตรกรและภาคเศรษฐกิจโดยรวมขอให้ภาครัฐยุติการยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด จนกว่าจะมีผลการศึกษาทบทวนข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างถี่ถ้วนรอบด้านและเปิดให้ประชาชนรับทราบผลการศึกษาอย่างชัดเจนก่อน รวมถึงให้บังคับใช้มาตรการจำกัดการใช้ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระหว่างที่มีการศึกษาทบทวน เพื่อส่งเสริมการใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้องและปลอดภัย ภายใต้แนวทางเกษตรปลอดภัย หรือ GAP ซึ่งที่ดผ่านมีการอบรมเกษตรกรไปแล้วกว่า 4 แสนคน แต่สุดท้ายต้องหยุดการอบรมไป ด้านน.ส.อัญชุลี กล่าวว่า ตนขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยกัน 5 ข้อ 1. เกษตรกรขอใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 43 (3) ประกอบมาตรา 77 ทวงสิทธิ์ผลการรับฟังความคิดเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่คัดค้านการแบน 3 สาร 2.ขอให้ตระหนักถึงผลกระทบของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยในมติหรือการให้ความเห็นของคณะกรรมการ การให้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฏหมายอื่น และการออกประกาศของรมว.อุตสาหกรรมหรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ให้คำนึงถึงสนธิสัญญาและข้อผูกพันระหว่างประเทศอื่นประกอบด้วย 3.ขอเรียกร้องให้ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ หยุดปฎิบัติหน้าที่ เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่สร้างความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงให้แก่เกษตรกรทั้งประเทศตนนำมาสู่การชุมนุมคัดค้านในวัน 4.ขอเรียกร้องให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ตลอดจนข้าราชการในกระทรวงสาธารสุข และผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานโยบายด้านสารเคมีแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เสนอการแบนสารเคมีทางเกษตรทั้ง 3 ชนิด ให้นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะใบรายงานการตรวจสอบที่ยืนยันว่า ตรวจสารตกค้างของสารทั้ง 3 ชนิด ออกมายืนยัน 5.ขอเรียกร้องให้นักวิชาการแสดงความรับผิดชอบและยืนยันว่างานวิชาการที่ตนวิจัยนั้น มีความถูกต้องตามหลักวิชาการจริง "เกษตรกรใคร่ขอความเป็นธรรม และขอความเมตตาจากท่านนายกรัฐมนตรี ได้เห็นถึงความจำเป็นในการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพราะเป็นปัจจัยการผลิตของเกษตรกร ขนาดนี้เกษตรกรทุกคนต้องประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน อีกทั้งยังมีวิกฤติที่จะเป็นห่วงโซ่อาหารทั้งระบบ" น.ส.อัญชุลี กล่าว จากนั้นเวลา 11.00 น. ทางกลุ่ม เดินเท้าต่อที่กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่นหนังสือกับทางรัฐมนตรี ต่อไป