นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนกัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 สามารถนำกัญชาไปทำการศึกษาวิจัยและนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ ในประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้นำไปผสมในอาหาร ขนม เครื่องดื่ม การออกฤทธิ์ของกัญชาจะเร็วหรือช้าขึ้นกับวิธีการที่นำกัญชาเข้าสู่ร่างกาย ชนิด ปริมาณสาระสำคัญและการตอบสนอง ที่แตกต่างกันในแต่ละคน เมื่อรับเข้าไปอาจมีอาการมีนงง เซื่องซึมและง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมากๆจะหลอนประสาท ทำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้ การนำมาใช้ในทางที่ผิดโดยการสูบ เคี้ยว หรือผสมกัญชาลงในอาหาร หากสูบจะเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วภายใน 2-3 นาที ออกฤทธิ์นานสูงสุดถึง 1 ชั่วโมง แต่การรับประทานใช้เวลาในการออกฤทธิ์นานราวหนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่า และจะถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกาย และถูกขับออกทางปัสสาวะ หากไม่เคยเสพกัญชาจะอยู่ในร่างกายได้นาน 2-5 วัน หากรับประทานมากเกินอันตรายเช่นกัน ทั้งนี้สามารถตรวจสารสำคัญของกัญชาได้ในปัสสาวะด้วยชุดสอบเบื้องต้น และยืนยันผล ด้วยเครื่องมือชั้นสูง ได้แก่ เครื่องแก๊สโครมาโตกราฟฟี-แมสสเปกโทรมิเตอร์ (GC-MS) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ “การรับประทานอาหารที่ผสมกัญชา ออกฤทธิ์ได้เช่นเดียวกับการเสพ แต่ช้ากว่า จึงพบอาการข้างเคียงจากการใช้กัญชาในปริมาณเกินขนาดจนเกิดอันตรายได้ แต่อย่างไรก็ตาม การออกฤทธิ์จะขึ้นกับชนิด ปริมาณของสารสำคัญ และการตอบสนองที่แตกต่างกันในแต่ละคน การรับประทานจะไม่ทำให้กลิ่นติดตัวเหมือนการสูบ จึงนิยมใช้ในสถานบันเทิง การผสมในอาหารส่วนใหญ่จะมีสี กลิ่น และรสที่น่ารับประทาน จะไม่สามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอกว่ามีกัญชา ผสมหรือไม่ แต่อาจสังเกตที่สัญลักษณ์บนฉลากจะมีคำว่า cannabis, THC, CBD หรือ Hemp ต้องระมัดระวังและ ไม่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า และให้ความรู้กับเยาวชนเพื่อป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นได้” นพ.โอภาสกล่าว