กรมชลประทาน เฝ้าระวังฝนตกภาคใต้ต่อเนื่อง พร้อมรับมือหากเกิดฝนตกหนัก จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ที่สามารถออกไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศตามประกาศแจ้งเตืองของกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง “ฝนตกหนักภาคใต้และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย” ซึ่งจะมีผลกระทบในช่วงวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2562 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศจีนตอนใต้แล้ว คาดว่าจะเคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศเวียดนามและทะเลจีนใต้ในระยะต่อไป ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นกับฝนตกหนักหลายพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ นั้น สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ในพื้นที่ภาคใต้รวม 43 แห่ง ปัจจุบัน(25 พ.ย. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 5,942 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 4,179 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 2,900 ล้าน ลบ.ม. ด้านสภาพน้ำท่าสายหลักต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่ง โดยที่ ลุ่มน้ำตาปี บริเวณบ้านท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎธานี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร คลองท่าดี บริเวณบ้านนาป่า อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2 เมตร ลุ่มน้ำนาท่อม บริเวณคลองท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา บริเวณบ้านคลองหวะ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 4 เมตร ลุ่มน้ำปัตตานี บริเวณบ้านปรีกี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 4 เมตร และบริเวณบ้านหัวสะพาน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 3 เมตร และลุ่มน้ำโก-ลก บริเวณสะพานลันตู อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 3 เมตร ทั้งนี้ กรมชลประทานได้แจ้งสถานการณ์น้ำต่อผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ พร้อมกับให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที หากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน หมายเลข 1460 หรือติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง http://water.rid.go.th/ และ www.rid.go.th